“ก้าวไกล” ตั้งข้อสังเกตความผิดปกติการพิจารณางบฯ

ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตความผิดปกติการพิจารณางบประมาณ เรียกร้องพิจารณาอย่างเปิดเผยโปร่งใส

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา และโฆษกพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ออกมาแถลงถึงผลความคืบหน้าและข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดปกติในการพิจารณางบประมาณที่ผ่านมา

โดยปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า การจัดสรรงบของรัฐบาลให้หน่วยงานราชการต่างๆมีความล้มเหลวและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ในวิกฤตที่ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบาก แต่ยังเห็นการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เช่น กระทรวงต่างประเทศ ของบจัดซื้อรถให้ทูต คันละ 3-4 ล้าน ถึง 14 คัน ของบซื้อชุดผ้าม่าน เครื่องอุ่นจาน และการปรับปรุงสนามเทนนิสให้กับสถานทูตในสเปน ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรม ยังคงของบเพื่อจัดงาน Fashion week ในกรุงเทพฯ ทั้งที่กำลังอยู่ในวิกฤตโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของข้าราชการกระทรวงต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ฐานเสียงหรือพรรคพวกตัวเอง เช่น การจัดสรรวัคซีนให้จังหวัดบุรีรัมย์มากเป็นพิเศษ

โดยนายปกรณ์วุฒิ ยังเรียกร้องให้การพิจารณางบประมาณควรเป็นไปอย่างเปิดเผยโปร่งใส มีการจัดทำเป็นรูปแบบไฟล์ spreadsheet หรือ Excel เพื่อให้สามารถนำไปวิเคราะห์ได้ในหลายมิติและสะดวกรวดเร็ว ควรต้องส่งล่วงหน้าและอัพโหลดไฟล์ดิจิทัลขึ้นเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดได้เป็นสาธารณะ รวมทั้ง การประชุมทั้งหมด ควรต้องมีการถ่ายทอดสดในช่องทางออนไลน์และบันทึกเก็บไว้ เพื่อให้ประชาชนได้จับตาพฤติกรรมต่างๆของหน่วยงานราชการและกรรมาธิการเอง เพราะในหลายครั้ง เหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลต่างๆเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ว่า ผู้ที่กระทำรู้ว่าไม่มีใครจับตาดูอยู่ หากมีการถ่ายทอดสดออกไป เชื่อว่า พฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นน้อยลง

ขณะที่นายจิรัฏฐ์ ในฐานะอนุกรรมาธิการงบประมาณได้ตั้งข้อสังเกตเช่นเดียวกันว่า การพิจารณางบประมาณในชั้นอนุกรรมาธิการพบความไม่โปร่งใสหลายประการ และที่น่าเกลียดคือ มีการนำใบเสนอราคาที่จัดทำขึ้นมาใหม่เพื่อให้ กมธ. พิจารณา

ด้านนายสุรเชษฐ์ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมที่ผิดปกติและน่าเคลือบแคลงสงสัย ใน 4 ประเด็น ได้แก่ “การเข้าห้องเย็น” หรือ การเรียก “หัวหน้าหน่วยงาน” ไปเจรจากันนอกรอบ ไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการชี้แจงในคณะอนุ กมธ. อาจเจรจากันในเรื่องการปรับลดงบประมาณ หรือพูดคุยกันตามประสาคนรู้จัก หรืออาจมีการเรียกรับผลประโยชน์อื่นใด ไม่มีใครทราบได้ เพราะเป็นการเจรจากันในทางลับ

“การขู่เชือดหนัก” คือ การที่มี อนุกมธ. บางท่านขู่ว่าจะตัด 20% บ้าง 50% บ้าง พอข้าราชการเจอแบบนี้ก็กลัว เปิดโอกาสให้มีการเรียกเคลียร์ที่อาจนำมาซึ่งการเจรจาต่อรองบางอย่างได้

“ของข้าใครอย่าแตะ” เป็นอีกพฤติกรรมที่หมายถึงการที่กรรมาธิการบางท่าน ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์งบประมาณของหน่วยงานมากอย่างผิดปกติ หลายกรณี แม้ตัวโครงการจะฟังดูดี แต่ยังมีบางรายการที่พอปรับลดได้ แต่หลายกรมกลับมี ส.ส. ที่เป็นอนุฯไปทำหน้าที่เหมือนองครักษ์มาปกป้องแบบของข้าใครอย่าแตะ ทั้งที่ความเป็นจริงต้องแตะได้หมด เพราะ ส.ส. มาทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่ได้มาตัดงบเพื่อเอามาแบ่งกัน

สุดท้าย คือ “การขอทอนคืน” หลายครั้งที่พรรคก้าวไกลทำการบ้านมาอย่างดี เพื่อปรับลดเงินจนหน่วยงานเถียงไม่ออก เนื่องจากหลักฐานชัดเจนว่าปรับลดได้ และหน่วยงานก็ยอมปรับลดแล้ว แต่กลับมี กมธ. บางคน อยากเอาใจหน่วยงาน เสนอให้ไม่ต้องปรับลดเลยแล้วใช้เสียงข้างมากดันให้ผ่านไป

พฤติกรรมแบบนี้ทำให้มีข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะเป็นผู้แทนราษฎร ส.ส. ควรทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์งบประมาณและภาษีของประชาชน จึงอยากให้เป็นรัฐโปร่งใสมากขึ้น เพื่อเป็นทางออกในการตรวจสอบงบประมาณต่อไป

Next Post

นายกฯ โทรยินดี ”น้องเทนนิส” คว้าเหรียญทองโอลิมปิก

นายกรัฐมนตรี โทรศัพท์ไปแสดงความยินดี กับ “น้องเทนนิส” หลังคว้าเหรียญทอง โอลิมปิก 2020 ได้เป็นผลสำเร็จ พรุ่งนี้บินกลับกักตัวที่ภูเก็ต  หลังจาก “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองเทควันโดหญิง โอลิมปิก2020 ได้เป็นผลสำเร็จ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โทรไปแสดงความยินดี โดยระบุว่า […]