ขว้างงูไม่พ้นคอ! ส.ว.กิตติศักดิ์ จวกรังสิมันต์แค่ ส.ส.ปัดเศษ วิโรจน์โต้ ว่าให้ไพบูลย์ทำไม

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวระหว่างการประชุมรัฐสภาเมื่อวันพุธ (23 มิ.ย.) ว่านายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ว่าเป็นเพียง “ส.ส.ปัดเศษ” ก่อนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตอบโต้ว่า อาจไม่ได้กล่าวถึงนายรังสิมันต์แค่คนเดียว แต่กำลังเสียดสีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ด้วยหรือไม่

“ท่านพูดว่า ส.ส. ปัดเศษ ท่านกำลังเสียดสีท่านไพบูลย์ นิติตะวัน อยู่ฮะ ขอให้ท่านถอนครับ ให้เกียรติท่านไพบูลย์ นิติตะวัน ด้วยครับ” นายวิโรจน์ กล่าว

หลังจากนายวิโรจน์กล่าวเสร็จ ก็ได้ยินเสียงหัวเราะของสมาชิกรัฐสภาดังไปทั่ว จนทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่ประธานในการประชุมดังกล่าว พูดขึ้นมาว่า “ผมชักงงละ”

เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นจากการที่นายรังสิมันต์การถึงความจำเป็นที่ต้องร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้ร่างแก้ไขของพรรคก้าวไกล ที่จะแก้ไขให้สมาชิกวุฒิสภาไม่มีสิทธิ์ร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า วุฒิสภา 250 คนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำ 5 สาย ที่สืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และวุฒิสภาเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเลยแม้แต่คนเดียว จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะมากำหนดตัวผู้บริหารประเทศ โดยเฉพาะตำแหน่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายกิตติศักดิ์ จึงลุกขึ้นประท้วง โดยบอกว่านายรังสิมันต์เป็นแค่ ส.ส.ปัดเศษ แถมไม่ทราบว่าเป็นตัวแทนมาจากเขตเลือกตั้งไหน แต่ตนที่เป็น ส.ว. มีสิทธิ์ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะประชาชนประมาณ 16 ล้านเสียง ลงคะแนนประชามติเมื่อปี 2559 ให้ ส.ว. ร่วมโหวตได้

“ส.ว. ในบทเฉพาะกาล มีพี่น้องประชาชนลงมติ 16 ล้านคน แต่ ส.ส. ที่ผู้กำลังอภิปรายอยู่นั้นน่ะ มีพื้นที่รึเปล่า คะแนนที่ได้มาก็ปัดเศษมา”

ทันใดนั้น นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จ.เชียงใหม่ เขต 6 พรรคเพื่อไทย ก็ลุกขึ้นประท้วงการทำงานของประธาน ที่ปล่อยให้นายกิตติศักดิ์พูด โดยไม่แจ้งว่าประท้วงนายรังสิมันต์ในประเด็นใด

การออกเสียงประชามติเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ได้รับเสียงวิจารณ์ว่าเกิดขึ้นท่ามกลางการจำกัดสิทธิในการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง และพบว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีเพราะรณรงค์ให้ไม่รับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่เปิดทางให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในเวลา 5 ปีตั้งแต่มีรัฐสภาชุดแรก

Next Post

ส่องสาระสำคัญ 13 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอรัฐสภาพิจารณา 23-24 มิ.ย.นี้

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ได้ยื่นญัตติเสนอต่อประธานรัฐสภารวม 13 ร่าง ประกอบด้วย * พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอ 1 ร่าง ให้มีการแก้ไข 13 มาตรา ใน 5 ประเด็น ได้แก่ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 เพื่อเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน […]