ชัยวุฒิ เชื่อคนไทยเอี่ยวแก๊งดูดเงินจากบัญชี มั่นใจจับได้แน่ จ่อสังคายนาธุรกรรมออนไลน์

“ชัยวุฒิ” เชื่อว่ามีคนไทยเกี่ยวข้องกับขบวนการมิจฉาชีพโจรกรรมเงินในบัญชีประชาชน มั่นใจว่าจับตัวมาลงโทษได้ พร้อมกับเตรียมสังคายนาการทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งระบบ

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีปัญหาประชาชนจำนวนหนึ่งถูกหักเงินออกจากบัญชี บัตรเครดิตและบัตรเดบิต ว่า ขอยืนยันก่อนว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของการแฮกบัญชี เพราะระบบการโอนเงินการจ่ายเงินของธนาคารยังมั่นคง ปลอดภัย ไม่ได้ถูกแฮก หรือถูกโจมตี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำข้อมูลจากบัตรเครดิตและบัตรเดบิตไปใช้โดยที่เจ้าของไม่รู้ แต่จะได้ข้อมูลมาจากแหล่งใดนั้นกำลังสืบอยู่ว่าใครเอาไปใช้ แล้วเอาไปใช้ให้ใคร ซึ่งถือเป็นความผิด เจ้าหน้าที่กำลังสืบสวนอยู่ว่าเงินดังกล่าวไปถูกตัดในแพลตฟอร์มใด อาจจะเป็นการซื้อเกม หรือซื้ออะไรต่างๆ ในออนไลน์ และคนที่ได้ประโยชน์เหล่านี้คือใคร โดยผู้กระทำความผิดน่าจะอยู่ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ

ทั้งนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากปัจจุบันมีการใช้เงินออนไลน์กันเยอะ ผ่านผู้ซื้อผู้ขายแพลตฟอร์มดิจิทัล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นย้ำว่าเราต้องไปกำกับดูแลการจะขายของหรือทำธุรกรรมทางออนไลน์ ต้องมีมาตรฐานตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการรับจ่ายเงินต้องมีระบบที่น่าเชื่อถือ เช่น ยืนยันรหัสโอทีพี (OTP) ในการจะจ่ายเงิน ถ้าไม่ส่งโอทีพีก็มีการแจ้งเตือน ขอฝากเตือนประชาชนถ้าจะใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตธนาคารใดให้ตรวจสอบด้วยว่าระบบการป้องกันของธนาคารนั้นเพียงพอหรือไม่ มีการใช้โอทีพีหรือไม่ ถ้าระบบไม่ดีไม่มั่นใจก็อย่าเอาบัตรนั้นไปใช้

เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้เท่าทันนั้น นายชัยวุฒิ ระบุว่า หน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องเงินคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งตนได้ร่วมหารือเบื้องต้นแล้วคงต้องปรับปรุงช่องว่างตรงนี้ เพราะบางทีมีการโอนเงินจำนวนไม่มากเขาก็ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ได้ตรวจสอบ จึงเป็นช่องว่างให้มิจฉาชีพใช้จุดนี้ในการหาประโยชน์ ธปท.จึงต้องไปกำกับดูแลให้มีการแจ้งเตือน มีการระมัดระวังมากขึ้น มีการยืนยันตัวตน ถึงแม้จำนวนเงินน้อยก็ต้องตรวจสอบโดยเฉพาะเมื่อมีการโอนหลายๆ ครั้ง ต้องมีการปิดกั้นด้วย เพราะถือว่ามีความผิดปกติ

“ยกร่างพระราชกฤษฎีกากำกับควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล/ธุรกิจออนไลน์ เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจจะเร็วๆ นี้ หลังจากมีการตรวจสอบความเรียบร้อย หลักการก็คือเราอยากให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอนจะทำธุรกิจออนไลน์กับประชาชนต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจ เพื่อที่เราจะได้กำกับดูแลได้ และผมก็มีมาตรการเบื้องต้น เช่น ธุรกิจต้องชัดเจน มีการยืนยันผู้ซื้อผู้ขายในระบบ จะได้ไม่มีการหลอกลวงกัน การโอนเงินรับเงินต้องมีระบบเชื่อถือได้ เช่น การยืนยันตัวตน 2 ครั้ง การแจ้งโอทีพีหรือพาสเวิร์ด ไม่ใช่อยู่ดีๆ รู้ข้อมูลแล้วมาตัดบัญชีเลย มันไม่ถูกต้อง มันมีความเสี่ยงที่จะโดนดูดเงิน โกงเงินได้” นายชัยวุฒิ กล่าวย้ำ

เมื่อถามว่าแนวโน้มการจับกุมตอนนี้สามารถยืนยันได้หรือไม่ว่าจะดำเนินการจับกุมได้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นายกฯ กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สืบสวนสอบสวนเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ ตนเชื่อว่ากระบวนการนี้มีคนไทยเกี่ยวข้องแน่นอน เชื่อว่าสามารถเอาผิดได้

นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์มต่างประเทศที่จะมาทำธุรกิจในเมืองไทยต้องมีตัวแทนรับผิดชอบต่อกฎหมายไทย รับผิดชอบต่อคนไทย ถ้าประชาชนเดือดร้อนแล้วร้องเรียนต้องมีตัวแทนมาแก้ปัญหา จะเป็นบริษัทต่างประเทศ 100% ไม่ได้ ต้องมีตัวแทนอยู่ในเมืองไทย ไม่ใช่พอมีปัญหาแล้วบอกอยู่ต่างประเทศทำอะไรไม่ได้เลย ประชาชนก็เดือดร้อน อันนี้เป็นแนวทางที่เราอยากให้เกิดขึ้นบนธุรกิจออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม

Next Post

เฉลิมพล เชื่อม็อบแค่แสดงจุดยืน แต่ขู่หากมีจลาจล-กระทบอธิปไตย ทหารพร้อมปราบ

พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวเมื่อวันอังคาร (19 ต.ค.) ว่าผู้ชุมนุมหลายกลุ่มในขณะนี้ยังอยู่ในระดับการใช้สิทธิ์เพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่หากมีการชุมนุมใดที่ทวีความรุนแรงกลายเป็นการจลาจลและกระทบต่ออธิปไตยของชาติ ก็เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะดำเนินการ การเคลื่อนไหว […]