ดร.หญิง ชี้ปัญหาครูไทยถอดใจลาออก จี้รัฐลงทุนกับระบบการศึกษา ไม่ใช่ซื้ออาวุธ

อรุณี ชี้การศึกษาไทยบิดเบี้ยวทำครูถอดใจลาออก แนะ 3 ทางออกวอนรัฐต้องกล้าลงทุนกับการศึกษาให้มากกว่าซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก่อนอนาคตประเทศพัง

ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ระบบการศึกษาไทยกำลังผุพังล้มเหลว จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบหลายด้าน แต่ที่จะสร้างผลกระทบระยะยาวต่อองค์รวมของประเทศคือโครงสร้างการศึกษาที่บิดเบี้ยว สะท้อนได้จากการที่เด็กและเยาวชนยังคงหลุดออกจากระบบการศึกษา และครูที่ตัดสินใจลาออกจากราชการเพราะเน้นคุณค่าการทำประเมินผลงานเลื่อนวิทยาฐานะสำคัญกว่าการสอนเด็กนักเรียน นอกจากจะสร้างความกดดันให้ครูแล้วยังเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการเลื่อนระดับวิทยาฐานะด้วย

หากรัฐกล้าทุ่มงบประมาณแผ่นดินไปกับความมั่นคงทั้งการจ้างนายพล ไปจนถึงพลทหาร กล้าจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ กล้าลงทุนซื้อเรือดำน้ำได้ ก็ต้องกล้าที่จะลงทุนกับการศึกษาได้โดย

1.จ้างครูในอัตราเงินเดือนที่เหมาะสม โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่กันดารห่างไกลที่รองรับเด็กด้อยโอกาสเพื่อไม่ให้เด็กหลุดจากรับบการศึกษา

2.ปฏิรูประบบงบประมาณจัดสรรตามความจำเป็นและพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน รวมทั้งต้องสอดคล้องกับขนาดโรงเรียน เพราะงบประมาณรายหัวไม่ตอบโจทย์ ให้เน้นความจำเป็นของนักเรียน และความแตกต่างของพื้นที่ซึ่งมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน รวมทั้งต้องสอดคล้องกับขนาดโรงเรียน

3.ปรับเปลี่ยน ยกระดับการเรียนการสอน ครูควรเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitator) เปิดพื้นที่การเรียนรู้ ไม่ใช่ครูที่ทำแบบประเมินและสอนให้ท่องจำ (Teach) โลกยุคใหม่ความรู้หาได้ง่ายเร็วและแม่นยำ กระทรวงศึกษาธิการต้องเป็นหน่วยงานที่ปลดล็อกรื้อถอนรากปัญหาทั้งระบบ เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการศึกษาของไทย ให้เด็กและเยาวชนเติบโตไปเป็นพลเมืองของโลกได้

ดร.อรุณี กล่าวอีกว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่มีถึง 110 มาตรา ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยการจัดตั้งหน่วยงาน องค์กร และคณะกรรมการที่เป็นครอบปิดอิสระในการสอนของบุคลากรให้ผูกติดกับโครงสร้างขององค์กรใหม่จำนวนมาก ที่จะเข้ามากำกับดูแลในพื้นที่ระดับตำบลและอำเภอ แต่ไม่มีการกล่าวถึงสิ่งที่เด็กและครูผู้สอนจะได้ประโยชน์ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ “การศึกษาคือการลงทุน” ด้วยการเปิดพื้นที่ให้บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง เข้ามามีส่วนร่วมกับการกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนการสอน เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์ ที่ใช้แนวคิดนี้จนสามารถเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้กลายเป็นต้นแบบในหลายประเทศ

“ไม่มีชาติใดในโลกที่พัฒนาได้ หากไม่พัฒนาการศึกษา ปัญหาการศึกษาไม่สามารถแก้ได้ด้วยกฎหมายและอำนาจ เมื่อเรามีผู้นำชื่อพลเอกประยุทธ์ ที่ยังไม่เข้าใจบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง ไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาไทยจะตกต่ำลงทุกปี” ดร.อรุณีกล่าว

Next Post

นฤมล เผยถ้าเลือกตั้งรอบหน้า พปชร.ได้เป็นรัฐบาล จะรื้อระบบใหม่-ใช้ภาษีอย่างคุ้มค่า

วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2564) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิก พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า พรรคพลังประชารัฐ มีความพร้อมในการเดินหน้า เพื่อเตรียมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งพรรคได้มีการการประชุม ส.ส. เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบของการรวมพลังเ […]