ปารีณา ยันไม่ได้รุกป่าสงวน ศาลชี้เป็น กมธ.งบ 65 ไม่ได้ นัดตัดสินคดีจริยธรรม 7 เม.ย. 65

“เอ๋ ปารีณา” ยืนยันบริสุทธิ์ ไม่ได้บุกรุกป่าสงวน ครอบครองโดยชอบธรรม ทำฟาร์มไก่เลี้ยงดูพ่อ ส่วนทนายความเตรียมพยานสู้คดีไว้ 10 ปาก ศาลมีมติเสียงข้างมากพิพากษาว่าไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็น กมธ.งบ 65 ได้ พร้อมนัดอ่านคำพิพากษาคดีฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง 7 เม.ย. 65

วันนี้ (9 พ.ย.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ ศาลฎีกา ถ.ราชดำเนินใน สนามหลวง นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ พร้อมทนายความ เดินทางมาศาลตามนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำ คมจ. 1/2564 เพื่อสอบคำให้การในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้วินิจฉัย กรณีกล่าวหา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อใช้ประกอบกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ และทำเกษตรกรรมใน จ.ราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยวันนี้ น.ส.ปารีณา ทนายความ และผู้ติดตาม เดินทางมาถึงศาล ตั้งแต่ช่วงเวลาราว 08.00 น. และให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ตอนนี้รู้สึกสบายใจขึ้นเยอะมาก และขอยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเอง เพราะตนเพิ่งเข้ามาดูแลฟาร์มเลี้ยงไก่ตามที่คุณพ่ออนุญาต และหลังจากยุติบทบาท ส.ส. ตามคำสั่งศาล ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก

ขณะที่ทนายความ กล่าวว่า สำหรับการต่อสู้คดี ทางเรายืนยันว่า ส.ส.ปารีณา ไม่ได้กระทำผิดจริยธรรมแต่อย่างใด ไม่ได้บุกรุกป่าสงวน เนื่องจากนายทวี ไกรคุปต์ บิดาซึ่งอายุมากแล้ว มีอาการความจำเสื่อม ได้มอบกิจการให้นางสาวปารีณาดูแลแทน เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงดูอุปการะพ่อ ซึ่งเป็นไปตามหลักศีลธรรม จริยธรรม ความกตัญญูรู้คุณของสังคมไทย ขอยืนยันว่านางสาวปารีณาครอบครองที่ดินโดยสุจริต เราต่อสู้ไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ซึ่งขึ้นอยู่กับศาลท่านจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนประวัติที่ดินแปลงนี้มีมานานแล้วช่วงก่อนปี พ.ศ.2484 ก่อนมีการปฏิรูปที่ดิน หรือประกาศ พ.ร.บ.ป่าไม้ อีก แต่ตอนนั้นยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดสรร โดยนายทวีซื้อต่อมาจากชาวบ้านที่เข้าทำประโยชน์ปลูกพืชมันสำปะหลัง โดยได้เตรียมพยานทั้งหมดไว้ประมาณ 10 ปาก เป็นเจ้าของที่ดินเดิม เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งใช้อัตราส่วนวัด 4 แสนต่อ 1 ซึ่งไม่ถูกต้องนัก ทางเราจึงยื่นคำร้องขอให้จัดทำแผนที่ใหม่โดยใช้อัตราส่วนที่ 5 หมื่น ต่อ 1 หรืออัตราส่วน 1 หมื่น ต่อ 1 ตามที่กฤษฎีกาประกาศไว้ ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาล

ศาลชี้ “ปารีณา” ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็น กมธ.งบ 65 ได้ นัดอ่านคำพิพากษาคดีฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง 7 เม.ย. 65

ในเวลาต่อมา ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก และตรวจพยานหลักฐานคดีที่ ป.ป.ช. ยื่นร้อง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีรุกพื้นที่ป่าสงวนใน จ.ราชบุรี อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม

โดยศาลกำหนดการไต่สวนและชี้ช่องพยานหลักฐานของฝั่ง ป.ป.ช. ทั้งสิ้น 12 ปาก ในวันที่ 8, 22, 28 ก.พ. 65 ขณะที่พยานของ น.ส.ปารีณา นัดสอบทั้งสิ้น 10 ปากในวันที่ 1-3 มี.ค. 65 และ 8-10 มี.ค. 65 โดยวันนัดพยาน ให้พยานมาศาลตามนัดทุกนัด มิเช่นนั้นจะถือว่าไม่ติดใจในการให้ถ้อยคำ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 7 เม.ย. 65 เวลา 10.30 น.

ทั้งนี้ ในการนัดพิจารณาคดีวันนี้ (9 พ.ย.) ป.ป.ช.ยังได้ยื่นคัดค้านการดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ของ น.ส.ปารีณา เนื่องจากเห็นว่า ศาลได้สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.แล้ว ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นหน้าที่ของสภาฯ การทำหน้าที่กรรมาธิการวิสามัญ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.

ดังนั้น เมื่อ น.ส.ปารีณา ได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่อาจปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมาธิการได้ ส่วนกรณีที่ น.ส.ปารีณา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ผ่านมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ศาลเห็นว่า มิใช่บทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงมีคำพิพากษายกคำร้อง

ขณะที่ นายทิวา การกระสัง ทนายความของ น.ส.ปารีณา กล่าวว่า กรณีที่ศาลระบุว่า น.ส.ปารีณา ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการได้นั้น ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีศาลชี้ขาดว่า ผู้ที่อยู่ระหว่างสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไปเป็นกรรมาธิการไม่ได้ แต่กระบวนการแต่งตั้ง น.ส.ปารีณา เป็นกระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการเสนอชื่อผ่านสภาฯ และได้รับความเห็นชอบ โดย น.ส.ปารีณา ไม่ได้เข้าไปเป็นเอง

ดังนั้น จึงไม่ส่งผลทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ต้องเป็นโมฆะ และไม่ผูกพันใดๆ เป็นเพียงแค่การสร้างบรรทัดฐานใหม่เท่านั้น แต่หากมีข้อสงสัยในประเด็นนี้ ควรจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเพื่อความชัดเจน เพราะคำวินิจฉัยของศาลฎีกาไม่ได้ผูกพันทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภา

ขณะที่ น.ส.ปารีณา ยืนยันว่า เคารพการตัดสินของศาล ส่วนจะส่งผลต่อการหาเสียงเลือกตั้งที่ขณะนี้มีกระแสเรื่องการหาเสียงหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่กังวล เพราะระหว่างที่ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ยังลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

Next Post

คณะก้าวหน้า พบผู้สมัครเลือกตั้ง อบต. ชูโมเดลน้ำประปาดื่มได้เทศบาลอาจสามารถ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พบปะผู้สม้ครทีมนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่คณะก้าวหน้าให้การสนับสนุน ใน จ.ลพบุรี และสระบุรี เมื่อวันอังคาร (9 พ.ย.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นโยบาย และแนวทางในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีกรรมการบริหารคณะก้าวหน้าอีกหลายคนเดินทางไปด้วย คือ นายชำนาญ จ […]