ป.ป.ช.ภาค 5 เปิดข้อมูล 16 คดี ชี้มูลทุจริต อดีตนายก อบจ.เชียงราย-อดีตอธิการ ม.ดัง

ป.ป.ช.ภาค 5 เปิดข้อมูล 16 คดีชี้มูลและคดีที่ศาลมีคำพิพากษาคดีทุจริต อัยการสูงสุดสั่งฟ้องอดีตนายก อบจ.เชียงราย ทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ 34 ล้านบาท ส่วนอดีตนายกเทศบาลเบิกงบดูงานอุดรแต่กลับพาคณะเที่ยวฮอยอัน  

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 5 แถลงข้อมูลกรคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 5 พื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2564-65 มีคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 5 มีมติชี้มูลและคดีที่ศาลมีคำพิพากษา จำนวนทั้งสิ้น 16 คดี เสียหายมากสุดคือคดีอดีตนายก อบจ.เชียงราย ทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการศึกษา งบประมาณกว่า 34 ล้านบาท 

(21 ก.พ.65) นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 5 พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดในพื้นที่ภาค 5 ร่วมแถลงการณ์ดำเนินงานและเผยแพร่ข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 5 มีมติชี้มูลและคดีที่ศาลมีคำพิพากษาปีงบประมาณ 2564-65 จำนวน 16 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีทุจริตของนักการเมืองท้องถิ่นและข้าราชการในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน  

สำหรับคดีที่น่าสนใจและมีมูลค่าความเสียหายสูง ได้แก่คดีที่สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 5 เป็นผู้กล่าวหา นางรัตนา จงสุทธานามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กับพวก กรณีทุจริตจัดซื้อครุภัณฑ์การศึกษา โดยการจัดทำห้องเรียน Electronic ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 จังหวัดเชียงราย ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย วงเงินงบประมาณ 34,070,000 บาท โดยทำการกำหนดคุณลักษณะครุภัณฑ์ อันเป็นการกีดกันการแข่งขันราคา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการบางราย และยังทำการกำหนดราคากลางสูงกว่าที่ควรจะเป็น รวมทั้งปรากฎพฤติการณ์สมยอมในการเสนอราคา รวมถึงยังทำการกำหนดราคากลางสูงกว่าราคาตามท้องตลาด เป็นเงิน 11,480,957.42 บาท ซึ่งการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางดังกล่าว เกิดจากการสั่งการของนางรัตนา จงสุทธานามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับกลุ่มนิติบุคคล ที่ประสงค์จะได้งานในโครงการดังกล่าว  

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติกล่าวหานางรัตนา จงสุทธานามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 โดยกล่าวหาพร้อมกับพวกอีก 6 คน ปัจจุบันอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหา ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทุกรายตามรายงานและสำนวนการไต่สวนแล้ว 

ส่วนคดีอื่นๆ ที่น่าสนใจเป็นคดีที่ ป.ป.ช.ภาค 5 กล่าวหานายพิทูร วิเศษศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลสันพระเนตร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กับพวกรวม 24 ราย  ดำเนินการโครงการอบรมพัฒนาบุคลากรและศึกษาดูงานเมื่อปี 2554 โดยมีโครงการดูงานในพื้นที่ จ.อุดรธานี แต่กลับเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่สอง ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ เดินทางถึงเมืองเว้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ ได้มีการพักค้างคืนที่เมืองเว้ และเมืองฮอยอัน รวม 3 คืน แต่ไม่ได้เดินทางไปราชการเพื่อศึกษาดูงาน ตามที่ขออนุมัติโครงการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ  

อีกคดีเป็นกรณี ป.ป.ช. กล่าวหา นายจำเนียร ยศราช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ทุจริตเลือกรับเงินค่าตอบแทนเหมาจ่าย แทนการจัดหารถประจำตำแหน่งผู้บริหาร แต่นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว โดยผู้ถูกกล่าวหาได้เลือกรับค่าตอบแทนเหมาจ่าย แทนการจัดหารถประจำตำแหน่งสำหรับข้าราชการผู้มีสิทธิได้รถประจำตำแหน่ง เป็นเงินเดือนละ 31,800 บาท กว่า 2 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555 ถึง วันที่ 7 กรกฎาคม 2557 เป็นต้น

ส่วนคดีอื่น ๆ ที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นคดีทุจริตจัดซื้อ ฮั้วประมูล และ ดูงาน มีผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นพร้อมพวกถูก ป.ป.ช. กล่าวหาชี้มูลฃความผิด ครบทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนบน รวมทั้งหมด 16  คดี   

 

 

Next Post

PLS Plantations Showcases Performance Improvement with a 340% Net Profit Increase

KUALA LUMPUR, Feb 21, 2022 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – PLS Plantations Berhad (“PLS Plantations” or the “Company”) today announced a 340% jump in the net profit for their second quarter financial performance for the period ended 31 December 2021 (Q2FY2022 […]