รวมวิวาทะ-ข้อเสนอแก้ปัญหาน้ำมันแพง ที่นักการเมืองต้องแสดงความเห็นทุกครั้งเมื่อราคาขยับ

นอกจากเรื่องเฉพาะหน้าที่รัฐบาลกำลังต้องแก้ไขปัญหาอย่างขะมักเขม้นก็คือ วิกฤตโควิด-19 ที่เผชิญมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน แต่ ณ นาทีนี้ก็มีปัญหาก่อตัวให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลับสมองประลองปัญญาอีกแล้ว ทั้งเรื่องอุทกภัยและเรื่องราคาน้ำมันแพง

OPEC คาดดีมานด์น้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

โดยเฉพาะช่วงนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งทั้งในระดับโลกลและในบ้านเรา เมื่อปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงาน “2021 World Oil Outlook” โดยระบุว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะพุ่งขึ้นอย่างมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ โอเปก คาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2566 จะเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน แตะที่ระดับ 101.6 ล้านบาร์เรล/วัน พร้อมกับระบุว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในปี 2564 และ 2565 ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่เหนือระดับของปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ปริมาณความต้องการใช้พลังงานและน้ำมันฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 หลังจากทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2563 โดยเราคาดว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจะขยายตัวต่อเนื่องในระยะยาว” นายโมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการโอเปก กล่าว

อย่างไรก็ตาม โอเปกมีการปรับลดคาดการณ์ปริมาณความต้องการน้ำมันในระยะยาว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

โอเปก ระบุในรายงานคาดการณ์ล่าสุดว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2573 จะอยู่ที่ 106.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งลดลง 600,000 บาร์เรล/วันจากระดับของปี 2563 และต่ำกว่าระดับที่โอเปกเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้อยู่ 11 ล้านบาร์เรล/วัน

“การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การทำงานทางไกลกำลังกลายเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ของบริษัทเอกชนจำนวนมาก นอกจากนี้ การขยายตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในระยะยาวจะถูกจำกัดโดยความนิยมของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า” โอเปก ระบุ

นักวิเคราะห์คาดราคาน้ำมันอาจพุ่งแตะ 100 ดอลล์/บาร์เรล เหตุโอเปกพลัสไม่เร่งเพิ่มการผลิต

นายจอห์น ดริสคอลล์ นักวิเคราะห์จากบริษัท JTD Energy Services คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากปริมาณความต้องการพลังงานที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว และจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังคงยึดมั่นในข้อตกลงด้านการผลิต

ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ต.ค. โอเปกพลัสประกาศเจตนารมณ์ที่จะยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในแต่ละเดือน แม้ว่าถูกกดดันจากนานาประเทศให้เพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าระดับดังกล่าวเพื่อชะลอการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันก็ตาม โดยในปีนี้ราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นไปแล้วถึง 50%

นายดริสคอลล์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ก็อาจไม่ใช่ระดับที่ยั่งยืน

“ผมคิดว่า หากทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด คือหากสภาพอากาศเลวร้าย, เกิดปัญหาระบบพลังงานขัดข้อง, การลำเลียงขนส่งสะดุดลง หรือเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สถานการณ์เหล่านี้อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็คาดว่าสถานการณ์ในลักษณะนี้จะไม่ยั่งยืน” นายดริสคอลล์ ระบุ

กันยายนเดือนเดียว ราคาน้ำมันบ้านเราปรับสูงขึ้น 6 รอบ!

ตัดมาที่ประเทศไทย ย้อนดูข้อมูลในช่วง 1 เดือน คือ กันยายน 2564 ปรากฏว่ามีการขึ้นราคาน้ำมันไป 6 รอบ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. 64

4 ก.ย. 64

– ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล +30 สตางค์/ลิตร

15 ก.ย. 64

– ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน / แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด +30 สตางค์/ลิตร

– น้ำมัน E85 ปรับขึ้น +15 สตางค์/ลิตร

– น้ำมันดีเซล ปรับขึ้น +50 สตางค์/ลิตร

18 ก.ย. 64

– ปรับราคาขายปลีกขึ้นทุกชนิด +50 สตางค์/ลิตร ยกเว้นน้ำมันดีเซล และ E85 ปรับขึ้น +30 สตางค์/ลิตร

24 ก.ย. 64

– ปรับราคาขายปลีกขึ้น โดยน้ำมันดีเซล +40 สตางค์/ลิตร

– แก๊สโซฮอล์ +30 สตางค์/ลิตร

– E85 ปรับขึ้น +15 สตางค์/ลิตร

28 ก.ย. 64

– ปรับราคาขายปลีกขึ้นทุกชนิด +40 สตางค์/ลิตร

– E85 ปรับขึ้น 20 สตางค์/ลิตร

30 ก.ย. 64

– กลุ่มแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดปรับขึ้น 40 สตางค์/ลิตร

– กลุ่มดีเซลทุกชนิดปรับขึ้น 60 สตางค์/ลิตร

– E85 ปรับขึ้น 20 สตางค์/ลิตร

กบง. ปรับสเปคน้ำมันดีเซลเป็น B6 ลดค่าการตลาด-ใช้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลประชาชน

ในขณะที่เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตนเองได้ไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่มีการปรับขึ้นราคาในเดือนกันยายน 2564 จำนวน 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 40–60 สตางค์ต่อลิตร สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง

รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 2,237 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ อีกทั้งยังร่วมมือกับทุกหน่วยงาน และผู้ประกอบการในการดูแลค่าการตลาดน้ำมัน การดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ให้คงราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งแม้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้ว แต่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลในประเทศบางประเภทสูงขึ้นจนส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชน

ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นของกระทรวงพลังงาน โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

  1. ลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของน้ำมันดีเซล B7 จาก 1 บาทต่อลิตร เหลือเพียง 1 สตางค์ ต่อลิตร ส่งผลให้ B7 มีราคาอยู่ที่ 30.29 บาท/ลิตร ซึ่งมาตรการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 5 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
  2. ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว จากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ ร้อยละ 7 (บี7) ร้อยละ 10 (บี10) และร้อยละ 20 (บี20) ให้เหลือ 2 สัดส่วน คือ สัดส่วนร้อยละ 6 (บี6) และร้อยละ 20 (บี20) มีผลวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564
  3. เห็นชอบค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา บี6 ลดลงจาก 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร เพื่อใช้อ้างอิงในการกำกับดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล B6 จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 28.29 บาท/ลิตร ในช่วงระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564

และในระหว่างนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการในระยะต่อไป ทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าการชดเชยตามมาตรการดังกล่าวนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท ยังคงเพียงพอที่จะนำมาช่วยเหลือ

ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีบทบาทอย่างมากในการรักษาระดับราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพให้ไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้ช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา อีกทั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ยังได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2564 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ จำนวน 1,480 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่ การช่วยเหลือแก๊สหุงต้ม LPG นั้น ข้อน่าสังเกตก็คือ มีการแยกบัญชีระหว่างแอลพีจีและน้ำมันออกจากกัน เนื่องจากติดลบกว่า 1.7 หมื่นล้าน ใกล้ถึงเพดานที่กำหนดไว้คือ 1.8 หมื่นล้านบาท และหลังจากนี้จะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ อนุมัติวงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มาช่วยเหลือเป็นเวลา 4 เดือน (ตุลาคม 2564-มกราคม 2565) เพื่อคงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัมอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มครัวเรือน แต่ไม่รวมภาคขนส่ง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พิจารณาขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำ/ค่าไฟ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 – ก.ย. 2565 (เป็นเวลา12 เดือน) โดย ครม.มีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,018 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 1.9 ล้านครัวเรือน และน้ำประปาประมาณ 186,625 ครัวเรือน อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลจากมติ กบง.ดังกล่าว แปลไทยเป็นไทยได้อีกครั้งว่า 

  • ตั้งแต่วันอังคารที่ 5 ต.ค.-วันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค. ราคาน้ำมันดีเซล B7 จะลดลงมาอยู่ที่ 30.29 บาทต่อลิตร เนื่องจากลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากลิตรละ 1 บาท เหลือแค่ลิตรละ 1 สตางค์ หรือ 0.01 บาท/ลิตร นั่นเอง
  • ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 ต.ค.-วันอาทิตย์ที่ 31 ต.ค. จะมีการผสมไบโอดีเซลเหลือ 2 แบบ จาก 3 แบบ คือ ปรับสัดส่วนจาก B7 มาเป็น B6 และยังคง B20 เอาไว้ แต่ยกเลิกผสมในสัดส่วน B10 ชั่วคราว
  • ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 ต.ค.-วันอาทิตย์ที่ 31 ต.ค. รัฐจะกำกับให้ค่าการตลาดของน้ำมันดีเซล B6 ลดลงมาอยู่ที่ 1.40 บาทต่อลิตร เพื่อให้ราคาขายปลีกอยู่ในระดับประมาณลิตรละ 28 บาท

แน่นอนว่าใครที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็จะทราบเป็นอย่างดีว่ามาตรการที่ออกมานี้เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ไม่เว้นแม้แต่เจ้ากระทรวงพลังงานที่ระบุว่า กระทรวงยังคงติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนอยู่เสมอ ทั้งเรื่องราคาแก๊สหุงต้ม LPG การรักษาค่า FT ในส่วนของค่าไฟฟ้า และดูแลเกษตรกรให้ยังได้รับผลประโยชน์จากการผลิตปาล์มน้ำมัน รวมทั้งผู้ผลิตยังสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มได้อย่างต่อเนื่องและราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกก็ยังคงอยู่ในระดับราคาที่สูง พร้อมกับย้ำว่าได้มอบหมายให้กระทรวงติดตามการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวนำเสนอต่อ กบง. ต่อไป

“ก้าวไกล” วอนรัฐบาลดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

หลังจากได้เห็นมาตรการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงของรัฐบาลกันไปแล้ว ลองมาดูข้อเสนอของฝั่งฝ่ายค้านกันบ้าง ขอเริ่มที่ ส.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล ที่แสดงความเห็นเอาไว้ว่าในช่วงเวลาแบบนี้ควรใช้เงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ มาช่วยคุมราคาดีเซล โดยให้เหตุผลว่าเงินกองทุนน้ำมันฯ ยังเหลือกว่า 30,000 ล้านบาท ต้องนำมาใช้ตรึงไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นเร็วเกินไป โดยเฉพาะดีเซล ช่วยลดลิตรละ 2 บาท 1 เดือน ใช้เงิน 2,000 ล้าน บรรเทาความเดือดร้อน และลดค่าครองชีพประชาชน

นอกจากนี้ ส.ส.ไหม ศิริกัญญา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ยังระบุเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันขายปลีกถูกปรับขึ้น 6 ครั้ง ทำให้ตนได้รับเรื่องร้องเรียนมามากมายทั้งในช่องทางที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการว่าราคาน้ำมันกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ประชาชนประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจมากที่สุดจากวิกฤติโควิด ซึ่งตนเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไปตั้งแต่เดือนมีนาคมว่า รัฐบาลควรนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มารักษาเสถียรภาพของราคาตามวัตถุประสงค์ของการเก็บเงินเข้ากองทุน ในเวลานั้นราคาน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลใน กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ 26.83 บาทต่อลิตร และราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินใน กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ 33.95 บาทต่อลิตร

จนกระทั่งมาถึงเดือนตุลาคม ราคาน้ำมันดิบ Brent ขึ้นมาถึง 79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล (บี7) ใน กทม. และปริมณฑลขึ้นมาถึง 31.29 บาทต่อลิตร ถึงเพิ่งมีข่าวจากรัฐบาลว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร โดยเพียงแค่จะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนลง 1 บาทต่อลิตร และลดค่าการตลาดลง 40 สตางค์/ลิตร

อย่างไรก็ตาม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลรายนี้ ยังแสดงความเป็นห่วงว่า ท่ามกลางสถานการณ์ในวันนี้ที่ราคาน้ำมันโลกขึ้นสูงก็มีสาเหตุมาจากการฟื้นฟูขึ้นของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติโควิด และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นขึ้นมาประจวบเหมาะกับสถานการณ์การระบาดของโควิดและความชะงักงันทางเศรษฐกิจในประเทศไทยช่วงที่ร้ายแรงที่สุดพอดี และอย่างที่ทราบกันดีว่าราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศนั้นไม่ได้ปรับขึ้นลงตามการผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น จากราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลิตรละ 31.29 บาท ณ วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นราคาเนื้อน้ำมันจริงๆ ที่ผันผวนตามตลาดโลกเพียง 20 บาท เป็นภาษีสรรพสามิต 6 บาท ภาษีท้องถิ่น 0.60 บาท เป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 1 บาท เป็นเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 0.10 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 บาท เป็นค่าการตลาด 1 บาท จะเห็นได้ว่าจากราคาน้ำมันดีเซล 31.29 บาทต่อลิตร มีเพียง 2 ใน 3 ของราคาเท่านั้นที่ผันผวนตามกลไกตลาดโลก ส่วนที่เหลือเป็นนโยบายของรัฐบาล

เวลาที่รัฐบาลเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เช่น เก็บจากดีเซลลิตรละ 1 บาท เบนซินลิตรละ 6.5 บาท เจตนารมณ์จริงๆ ของการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน คือ การรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงาน นั่นก็คือทำยังไงก็ได้ให้ราคาน้ำมันไม่ผันผวนมากไป เวลาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นเร็ว เงินจากกองทุนนี้ต้องนำมาช่วยไม่ให้ราคาเพิ่มเร็วเกินไป แต่เมื่อดูจากวิธีการใช้เงินของกองทุนน้ำมันฯ ที่ผ่านๆ มาจะเป็นการไปอุดหนุนข้ามประเภทพลังงาน และอุ้มอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพเป็นหลัก โดยจากโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในวันที่ 1 ต.ค. 2564 จะเห็นได้ว่าใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ อุ้มราคา E20 อยู่ 2.28 บาทต่อลิตร อุ้ม E85 7.13 บาทต่อลิตร และอุ้มดีเซล B20 ทั้งสิ้น 4.16 บาทต่อลิตร

ถ้าเราจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งตอนนี้มีเงินหลังจากหักหนี้สินเหลือสุทธิกว่า 30,000 ล้านบาท มากดราคาดีเซลลงจากที่เพิ่มขึ้น 2.50 บาทภายใน 1 เดือน ให้ค่อยๆ ทยอยขึ้นเดือนละ 0.50 บาท เพื่อช่วยค่าครองชีพให้ประชาชนได้บ้างก็น่าจะทำได้ทันทีโดยใช้เงินราว 2,000 ล้านบาท

“ดังนั้นการที่รัฐบาลเพิ่งมาประกาศว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร จึงเป็นการช่วยเหลือที่ช้าเกินไปและน้อยเกินไป นอกจากนี้ดิฉันเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะมาถกเถียงกันอย่างจริงๆ จังๆ ถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน และบทบาทในการใช้เงินของกองทุนน้ำมันฯ” ส.ส.ศิริกัญญา กล่าวย้ำ

ในขณะที่ ส.ส.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้ให้เห็นปัญหาของราคาน้ำมันที่แพงขึ้นว่า “ราคาน้ำมันไม่ใช่แค่ความเดือดร้อนของผู้มีรถยนต์ส่วนตัว แต่คือ ต้นทุนชีวิตของเกษตรกรไทยและคนที่หาเช้ากินค่ำทุกคน” โดยระบุว่าหลังจากตนลงพื้นที่ในต่างจังหวัด จึงได้รับฟังความทุกข์ร้อนของพี่น้องเกษตรกรทั้งชาวนา ชาวสวนมะม่วง ในเขตอำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ที่ต้องมีภาระต้นทุนสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน เครื่องจักรทางการเกษตรล้วนแต่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพ่นปุ๋ยน้ำทางใบหรือรถบรรทุกปุ๋ย รถบรรทุกผลผลิตทางการเกษตร ทั้งๆ ที่ 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะม่วงก็ประสบปัญหาขาดทุนจากสถานการณ์ราคามะม่วงตกต่ำ ส่งออกได้น้อย ซ้ำยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมเป็นหนี้เป็นสินกันเป็นจำนวนมาก

ส.ส.ทิม พิธา ยังย้ำให้เห็นภาพว่า ในส่วนของชาวนานั้นได้รับผลกระทบที่หนักหนามาก ราคาข้าวลดต่ำลงมาเฉลี่ยเกวียนละประมาณ 5,000 – 6,000 บาท แต่ต้นทุนการปลูกข้าวที่สูงมากทั้งราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซ้ำต้องเผชิญกับค่าน้ำมันที่สูงขึ้น และที่ทำให้สะเทือนใจมากก็คือ ชาวนาในตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ กำลังห่วงกังวลถึงค่าใช้จ่ายน้ำมันเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ขอมาจากกรมทรัพยากรน้ำ ที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 200 ลิตรต่อ 10 ชั่วโมง เพื่อสูบน้ำที่ท่วมออกจากนา ตนจึงอยากให้ทางรัฐบาลและจังหวัดต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะใช้งบกลางช่วยเหลือชาวนาผู้ประสบภัยเหล่านี้ด้วย

“เพื่อไทย” ลั่นต้องลดภาษีสรรพสามิต ราคาน้ำมันดีเซลขยับลงได้ลิตรละ 5 บาทชัวร์!

ทีนี้เราลองมาดูข้อเสนอของฝั่งอดีตรัฐมนตรีกันบ้าง เริ่มกันที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อ้างอิงในช่วงเวลาที่อยู่ในสมัยรัฐบาลเพื่อไทยเมื่อหลายปีก่อนว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงมากถึง 120-130 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จึงมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพียงลิตรละ 0.01 บาท (1 สตางค์/ลิตร) เท่านั้น หรือแทบไม่เก็บเลย แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมาก บางปีลดต่ำถึง 30-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้เก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงลิตรละ 5.99 บาท และเมื่อรวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วภาษีจะเพิ่มถึงลิตรละ 6.41 บาท ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงเพราะต้องจ่ายภาษีสูง

ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น รัฐบาลก็ควรจะลดการเก็บภาษีสรรพสามิตลงและต้องทำ ตนจึงเชื่อมั่นว่าการลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทสามารถทำได้จริง และพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งถ้ายังจำกันได้พรรคเพื่อไทยเคยยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ชั่วคราวมาแล้ว จนทำให้ราคาน้ำมันลดลงสูงสุดถึงลิตรละ 7.50 บาท ซึ่งทำสำเร็จมาแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรใช้กองทุนน้ำมันฯ ในการแทรกแซงและรักษาเสถียรภาพของราคา ไม่ไห้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเร็วเกินไป ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ ที่มีเงินอยู่หลายหมื่นล้านบาทสามารถเข้าแทรกแซงราคาได้ในทันที

“ผมขอทวงคืนเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เป็นของประชาชน แต่รัฐบาลโอนกลับไปเป็นรายได้ของรัฐจำนวนนับหมื่นล้านบาทในหลายปีที่ผ่านมา เงินนี้เป็นของประชาชน มีจุดประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน หลายปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันลดลงมากและอยู่ในระดับต่ำมาตลอด เงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เก็บได้จนล้นแล้วโอนไปเป็นรายได้ของรัฐบาลซึ่งผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องคืนให้ประชาชนเพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันในช่วงนี้ ผมจึงอยากเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1. ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพราะน้ำมันดีเซลเป็นต้นทุนของสินค้าหลายชนิด และยังเป็นต้นทุนของการขนส่ง และ 2. การใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ แทรกแซงราคาน้ำมันโดยด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามลำบากนี้” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุ

นอกจากนี้ อดีต รมว.พลังงาน รายนี้ ยังประกาศอีกด้วยว่า แนวโน้มในต่างประเทศราคาน้ำมันดิบประมาณ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ยังมีทิศทางที่จะขึ้นราคาต่อไปอีกอาจจะถึง 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมาก ดังนั้นจึงอยากให้มั่นใจ หากมีการเลือกตั้งโดยเร็วและถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะลดราคาน้ำมันดีเซลทันทีลิตรละ 5 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสามารถทำได้แน่นอนหลังตั้งรัฐบาล ก่อนจะปิดท้ายด้วยการแนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรเข้าไปดูในโครงสร้างราคาน้ำมัน เช่น เรื่องราคาหน้าโรงกลั่นที่ยังสูงกว่าของสิงคโปร์ และค่าการตลาดที่ยังสูง สามารถลดลงได้ อีกทั้งราคาพลังงานที่ผลิตจากพืชพลังงานทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลที่มีราคาสูง เป็นต้น โดยโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดควรจะต้องมีการตรวจสอบเพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชนมากเกินไปรวมถึงโครงสร้างราคาไฟฟ้าด้วย

“เสรีรวมไทย” เสนอลดภาษี-เพิ่มประสิทธิภาพบริหารกองทุน

นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย เห็นว่าในเวลานี้ประชาชนกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิดระบาด ภาวะน้ำท่วม แล้วกำลังเจอกับราคาน้ำมันแพงซ้ำเติมความทุกข์ยาก จึงเสนอมาตรการที่รัฐบาลสามารถทำได้โดยเร็วคือ

1. ลดอัตราภาษีน้ำมัน

ซึ่งภาษีน้ำมันเราจัดเก็บบนหลักสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อไม่ให้มีการใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ที่ผ่านมาในช่วงเวลาราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง เป็นโอกาสดีที่รัฐจะขึ้นภาษีโดยที่ไม่ได้กระทบหรือสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมากนัก ในทางกลับกันเมื่อราคาน้ำมันกำลังพุ่งตัวสูง รัฐก็ควรใช้มาตรการทางการคลังโดยลดอัตราภาษีน้ำมันลง ในภาวะที่ประชาชนมีความเดือดร้อน จากวิกฤติโควิดและจากน้ำท่วมอีก ซึ่งก็อยู่บนหลักการคล้ายกับการแจกเงินเพื่อเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด

2. การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาน้ำมัน

ปัจจุบันกองทุนฯ จัดเก็บเงินในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันไม่ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งรัฐอาจต้องหาเครื่องมือหรือมาตรการในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

“ธีระชัย” กางบันได 6 ข้อ แก้ปัญหาน้ำมันแพง

อดีตรัฐมนตรีอีกคนที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องปัญหาราคาน้ำมันแพงก็คือ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งอรรถาธิบายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการอ้างอิงข้อเสนอของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไว้ถึง 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. ยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงค์โปรบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า

มาตรการนี้ จะแก้ไขหลักการผิด ที่ใช้สมมติฐานเสมือนว่าโรงกลั่นในไทยตั้งอยู่ในสิงค์โปร์ แล้วบวกค่าใช้จ่ายเทียมโดยสมมติว่านำเข้า อันเป็นนโยบายที่อุ้มให้โรงกลั่นในไทยได้กำไรเกินควร จึงควรรื้อไม่ให้มี “เสือนอนกิน” (เป็นเช่นนี้มานานแล้ว)

2. ยกเลิกการนำไบโอดีเซลและเอทานอลไทยที่กำหนดราคาสูงกว่าตลาดโลกที่เอามาผสมกับน้ำมัน

มาตรการนี้ จะรื้อนโยบายของรัฐที่ไปอุ้มราคาเชื้อเพลิงพืช แต่ชดเชยเงินกองทุนน้ำมันให้แก่โรงกลั่น (ไม่ใช่ให้แก่เกษตรกร) ซึ่งสร้างกำไรให้ธุรกิจโรงกลั่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เมื่อราคาเชื้อเพลิงพืชยิ่งสูง ยิ่งเอามาผสมกับน้ำมัน ประชาชนก็ยิ่งเดือดร้อน จึงควรรื้อนโยบายที่อุ้ม “จระเข้ขวางคลอง”

3. กำหนดเพดานสูงสุดของค่าการตลาดไม่ให้เกิน 1.5 บาทต่อลิตร (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.5-5 บาท/ลิตร) และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการฮั้วราคาขายโดยไม่มีการแข่งขันอย่างเสรี

มาตรการนี้ จะแก้ปัญหาในจุดที่ว่า นโยบายของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา การแข่งขันในธุรกิจพลังงานในไทยไม่เสรีเท่าที่ควร

4. กำหนดให้ประกาศราคาน้ำมันขายปลีกทุกๆ วันจันทร์ โดยใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลังในวันทำการของสัปดาห์ก่อนหน้าไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้ราคาไม่ผันผวนเกินไป

มาตรการนี้ จะช่วยทำให้ราคาขายปลีกขึ้นลงอย่างเนิบนาบ เปิดช่องหายใจให้แก่ประชาชน แต่ในขณะเดียวกันจะช่วยปิดช่องทางที่บริษัทน้ำมันจะบวกกำไรเกินควร

5. ยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ พร้อมทั้งรื้อนโยบายราคาแก๊สหุงต้ม LPG ดังนี้

5.1 ยกเลิกอ้างอิงราคาแก๊สหุงต้ม LPG สำหรับครัวเรือนกับราคาตลาดโลกที่บวกค่าใช้จ่ายเทียมในการนำเข้าจากซาอุฯ เพราะแก๊สหุงต้มสำหรับครัวเรือน 100% ผลิตได้มาจากโรงแยกก๊าซในประเทศ

5.2 ประกาศเพดานราคาแก๊สหุงต้ม LPG สำหรับครัวเรือนที่เหมาะสมเพราะผลิตได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ เพื่อมิให้บริษัทผูกขาดธุรกิจนี้สามารถบวกกำไรได้มากเกินไป

5.3 กำหนดให้ราคา LPG ที่ขายแก่ธุรกิจปิโตรเคมีต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก (ไม่ใช้ราคาซื้อขายกันเองระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูกในราคาต่ำกว่าตลาดโลกมาก)

มาตรการนี้ เป็นการยอมรับหลักการว่า ก๊าซ LPG เป็นพลังงานจำเป็นในครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยผลิตได้เองในประเทศและมีการกำหนดราคาขายที่เป็นธรรมมาตลอด แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ ในฐานะประธาน กพช. กลับยกเลิกเพดานราคาที่รัฐบาลต่างๆ จากการเลือกตั้งก่อนหน้าได้กำหนดไว้ รัฐบาลนี้กลับเปลี่ยนไปอ้างอิงราคาตลาดโลกบวกค่าใช้จ่ายเทียมในการนำเข้าจากซาอุฯ

นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าว จึงเป็นการเฉือนเนื้อประชาชนคนไทยทั้งชาติ ไปปรนเปรอบริษัทผูกขาด ซึ่งเป็น “เสือนอนกิน” และจำเป็นต้องแก้ไขเป็นการด่วน และที่ผ่านมา ก็แก้ไขผลกระทบ โดยเอาเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปช่วยตรึงราคาก๊าซ LPG เดือน ก.ย.ต้องใช้ถึง 1.7 หมื่นล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ คงจะไม่เข้าใจกลไกราคาทะลุปรุโปร่ง เพราะออกข่าวชื่มชมตนเองที่ไม่ได้ยกเลิกกองทุนน้ำมันฯ ตามที่มีข้าราชการเสนอ แต่หารู้ไม่ว่า การเอาเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนก๊าซ LPG ก็คือรีดเงินจากประชาชนกลุ่มหนึ่ง ไปช่วยประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง จึงเป็นการแก้ปัญหาแบบ “โจรปล้นคนจน” ไม่ยอมกลับไปรื้อนโยบายที่ผิด ที่อุ้มนายทุนผู้ถือหุ้นทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

6. ต่อเมื่อได้ดำเนินการทั้งหมดแล้ว จึงให้พิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว

โฆษกรัฐบาล ย้ำราคาน้ำมันในไทยไม่ได้แพงสุดในโลก

ขณะที่เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สาเหตุมาจากปริมาณความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังจากทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่มีการปรับขึ้น รัฐบาลจึงมีมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมติของ กบง. ดังกล่าว

โฆษกรัฐบาล ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศนั้นๆ แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี ระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน ราคาหน้าโรงกลั่น ค่าเงินบาท ซึ่งความจริงแล้วราคาน้ำมันในปัจจุบันไม่ได้สูงไปกว่ารัฐบาลก่อนตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความเห็นเรื่องภาษีน้ำมันสรรพสามิตในรัฐบาลก่อน แต่บริบทที่เปลี่ยนไปมีความแตกต่างต่อการบริหารประเทศอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือในหลายแนวทาง และต้องมีการบริหารการเงินการคลังให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

นอกจากนี้ นายธนกร ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ พบว่า ประเทศไทยไม่ได้ขายน้ำมันแพงที่สุดในโลก ราคาน้ำมันเบนซินอ้างอิง ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยขายอยู่ที่ 31.15 บาท/ลิตร กัมพูชา 37.22 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 63.79 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิง ณ วันที่ 4 ตุลาคม เช่นกัน ประเทศไทยขายอยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร กัมพูชา 30.19 บาท/ลิตร และสิงคโปร์ 51.87 บาท/ลิตร
 
นายธนกร ยังกล่าวถึงกรณีที่นายพิชัยระบุว่า รัฐบาลควรลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 5 บาท/ลิตร โดยเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลยิ่งสักษณ์ที่จัดเก็บอัตราภาษีน้ำมันดีเซลเพียงลิตรละ 0.005 บาท/ลิตรนั้น เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันดิบโลกอยู่ที่ 77.30 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564) ต่างจากสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งสักษณ์ ชินวัตร ที่เคยสูงประมาณ 106.86 เหรียญหรัฐฯ/บาร์เรล (เดือนสิงหาคม 2554) ในขณะนั้นจึงต้องมีการลดอัตราภาษีน้ำมันและเงินนำส่งเข้ากองทุนลดลง ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องลดอัตราภาษีลง แต่รัฐบาลจะติดตามสถานการณ์น้ำมันอย่างใกล้ชิด

Next Post

แอมเนสตี้ จี้ไทยเร่งคลอด พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน แก้เนื้อหาตามกติกาสากล

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เรียกร้องให้รัฐสภาไทยเร่งออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ที่ขณะนี้พบว่าล่าช้าอย่างต่อเนื่อง เพราะกฎหมายดังกล่าวสำคัญต่อการนำอาชญากรมาลงโทษและให้ความยุติธรรมต่อเหยื่อ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ผ่านวาระแรก! ส […]