ศาลปกครองสูงสุด สั่ง คพ.จ่ายชดใช้ 9,000 ล้าน! จบมหากาพย์คดีค่าโง่คลองด่าน

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ชดใช้เป็นจำนวนเงิน 9 พันล้านบาท กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เนื่องจากเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานใหม่ตามที่กล่าวอ้าง

วันนี้ (7 มี.ค.) ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตนั้น กรมควบคุมมลพิษได้เสนอต่อศาลปกครองมาแต่แรกในชั้นการพิจารณาคดีครั้งก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีของศาลแขวงดุสิตที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ที่ 1 กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ข้อหาร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการ ย่อมแสดงว่ากรมควบคุมมลพิษต้องมีพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่าสัญญาเกิดขึ้นจากการร่วมกันทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนคำพิพากษาศาลอาญาที่กรมควบคุมมลพิษอ้างเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยานและอ้างว่าศาลอาญามีคำพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษเป็นการกระทำโดยทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนคู่สัญญาว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ประกอบการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นการที่ศาลนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงในสำนวน คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่

ส่วนข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าว เป็นข้อเท็จจริงสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษ และการเอื้อประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดสมุทรปราการอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จะยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ

และพยานหลักฐานที่ศาลอาญาได้รับไว้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อจัดให้มีการทำสัญญาซึ่งเป็นเอกสารที่มีขึ้นก่อนเริ่มต้นกระบวนการอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น และอีกส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้นในคดีก่อนเช่นกัน

ดังนั้นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาของศาลอาญาที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนทั้งสิ้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ส่วนหนังสือที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ส่งถึงกรมควบคุมมลพิษแจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม เรื่อง อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ไว้ชั่วคราวนั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงการรับฟังข้อเท็จจริงและผลของคำพิพากษาศาลอาญา เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

ส่วนที่อ้างในความไม่ชอบของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอันมีสาเหตุมาจากการขาดคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการนั้น ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณี นายเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการท่าเรือฯ กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ อนุมัติให้แก้ไขสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการอู่เรือ บริเวณแหลมฉบัง และแจ้งข้อกล่าวหาให้ นายเสถียร ทราบในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการในคดีนี้ อีกทั้งยังเป็นคนละมูลเหตุพิพาทกับคดีนี้และมิใช่คู่กรณีเดียวกัน จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ และไม่ทำให้คุณสมบัติความเป็นกลางของนายเสถียรต้องเสียไป

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า พยานหลักฐานของกรมควบคุมมลพิษเป็นพยานหลักฐานที่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนและกรมควบคุมมลพิษได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และมิใช่กรณีที่คู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมา กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และข้อเท็จจริงที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นและประเด็นระยะเวลาการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

ในส่วนของกระทรวงการคลัง มิได้เป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีอันมีฐานะเป็นคู่กรณีตามคำพิพากษาศาลปกครอง ตลอดจนมิใช่คู่สัญญาตามสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก และไม่อยู่ในบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีในคดีเท่านั้น มิได้มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะมีผลทำให้เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีดังกล่าวแต่อย่างใด กระทรวงการคลังจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

ทั้งนี้ สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ เป็นผลมาจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 57 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อร้องเป็นเงิน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,434,636 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ให้กับกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ซึ่งประกอบไปด้วย 6 บริษัท คือ บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บ.นอร์ทเวสท์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บ.ประยูรวิศการช่าง จำกัด บ.สี่แสงการโยธา จำกัด บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และ บ.เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด

กรมควบคุมมลพิษมีการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างพยานหลักฐานใหม่เป็นคำพิพากษาศาลอาญาว่าโครงการดังกล่าวเป็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกันเพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ในการก่อสร้างโครงการและให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน ซึ่งศาลปกครองกลางสั่งรับคำขอไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 61 สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี

ต่อมา กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าหลักฐานที่กรมควบคุมมลพิษอ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้ว ขณะที่กระทรวงการคลังก็อ้างว่าเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้โดยตรง จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ได้ จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายค่าชดใช้ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการตามที่รายงานมาแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ตาม มูลค่าความเสียหายในคดีดังกล่าวที่กรมควบคุมมลพิษต้องจ่ายตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อปี 2554 จากราว 9 พันล้านบาท ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าอาจสูงถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท

Next Post

สัมภาษณ์พิเศษ "แรมโบ้อีสาน" นักปั้นนายกรัฐมนตรี

“แรมโบ้ อีสาน” นักปั้นนายกรัฐมนตรี เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้ อีสาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว News เปิดใจแบบหมดเปลือกถึงจุดยืนทางการเมืองและดราม่าตั้งแต่ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ จนถึงการก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ เส้นทางการเมือง “แรมโบ้ อีสาน&#8 […]