#สมรสเท่าเทียม ยังต้องรอ! ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “สมรสเฉพาะชายหญิง” ไม่ขัด รธน.

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (17 พ.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว โดยระบุว่า วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้

(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1148 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 30/2563)

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องทั้งสอง (นางสาวพวงเพชร เหงคำ ที่ 1 และ นางเพิ่มศัพท์ แซ่อึ๊ง ที่ 2) ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 1056/2563 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (กรณีขอจดทะเบียนสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศ) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และ มาตรา 27 หรือไม่

ผลการพิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล และความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ โดยมิได้ข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในส่วนนี้

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัตไว้ว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้”

  • ชาวเน็ตลุ้น #สมรสเท่าเทียม ศาลจ่อลงมติแต่งงานแค่ชายหญิงขัด รธน. หรือไม่

ทั้งนี้ ที่มาของคดีดังกล่าวจุดประกายความหวังของการ #สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย เนื่องจากนางสาวพวงเพชร เหงคำ และนางเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง ซึ่งเป็นคู่รักที่มีเพศตามทะเบียนราษฎรเป็นเพศหญิง ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้งคู่จึงแต่งตั้งทนายความให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส

หากนายทะเบียนปฏิเสธก็ขอให้ศาลส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือสามารถกล่าวได้อีกทางหนึ่งว่า คดีนี้ผู้ร้องทั้งสองใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า กฎหมายที่ใช้บังคับในคดีนั้นๆ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า ป.พ.พ. มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ดังที่รายงานไปแล้วเบื้องต้น

Next Post

Inaugural Asia Summit on Global Health highlights Hong Kong's advantages

HONG KONG, Nov 17, 2021 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – Co-organised by the Government of the Hong Kong Special Administrative Region (HKSAR) and the Hong Kong Trade Development Council (HKTDC), the inaugural Asia Summit on Global Health (ASGH) will take place on 24 November at the […]