สาธิต รมช.สาธารณสุข กังวลสถานการณ์โควิดวีกหน้า คาดอาจมีผู้ป่วยรอเตียง “ดับ” คาบ้าน

รมช.สาธารณสุข “สาธิต ปิตุเตชะ” ยอมรับกังวลกับสถานการณ์โควิดในรอบ 7 วันข้างหน้า คาดอาจมีผู้ป่วยรอเตียง “เสียชีวิต” ที่บ้านอีก

วานนี้ (1 ก.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมร่วมกับกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และ กทม. เรื่องการบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า สถานการณ์ขณะนี้พบว่า ผู้ป่วยโควิดสีแดง (อาการหนัก) 10 รายที่รอเตียง จะหาเตียงได้แค่ 2 ราย ส่วนอีก 8 รายต้องรอเตียงเกิน 1 วัน ส่วนผู้ป่วยอาการสีเหลือง (อาการปานกลาง) ในระบบมีประมาณ 500 ราย ต้องรอเตียงเกิน 2 วันประมาณ 200 กว่าราย และผู้ป่วยสีเขียว (อาการน้อยหรือไม่มีอาการ) โทรขอรับเตียง 1,641 คน มี 783 คน ต้องรอนานเกิน 3 วัน

นายสาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ผู้ป่วยที่เข้ามาในระบบ มีทั้งการตรวจเชิงรุก และเข้ามาใน รพ. ซึ่งกรณีที่มา รพ. แสดงว่าต้องมีอาการถึงเดินเข้ามา ดังนั้น คิดว่าจะต้องมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ที่บ้าน ซึ่งที่ประชุมวันนี้กังวลสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในรอบ 7 วันนี้ อาจจะมีผู้ป่วยรอเตียงเสียชีวิตที่บ้านอีก

นอกจากนี้ นายสาธิต กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ตนออกมาพูดเพื่อสะท้อนให้ประชาชนเห็นภาพก่อน ในขณะที่รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาเตียงในแต่ละส่วน เพิ่มเติมเตียงทั้งสีเหลือง สีแดง ไอซียูสนาม เช่น มณฑลทหารบกที่ 11 ทำไอซียูสนาม 50 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ จะเริ่มที่ 10 เตียงในวันที่ 10 ก.ค. รวมถึง กทม. และ รพ.อีกจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เตรียมมาตรการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) สำหรับผู้ป่วยอาการสีเขียว และการดูแลตัวเองในระบบชุมชน (Community Isolation)

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ที่เตรียมไว้นั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในระยะเวลา 7-14 วันนี้ เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย แต่เมื่อมีการจัดหาเตียงสีแดง สีเหลืองมากขึ้น และกระบวนการที่เราทำนั้นเกิดผลในทางบวกก็จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

“ผมต้องขอโทษคนไข้ และครอบครัวผู้ต้องสูญเสีย ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทำอะไร ทุกคนทำเต็มที่ เดินหน้าเต็มตัว เขย่งทำ หมอและทีมที่ดูแลผู้ป่วยก็ขยายตัวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ผมพูดเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่ตรงกัน รัฐบาลก็พยายามแก้ไขสถานการณ์แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ได้ตอบแค่เรื่องเตียง เรื่องเงิน แต่ตอบด้วยวิชาชีพ ผมยังย้ำว่าการดูแลผู้ป่วยต้องให้แพทย์นำการเมือง ถ้าเอาการเมืองนำแพทย์สถานการณ์จะไม่ดีขึ้น ย้ำเป็นครั้งที่ 200” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุ

นายสาธิต กล่าวอีกว่า วันนี้เราทำทั้ง Home Isolation และ Community Isolation มีผู้เสนอให้มีพยาบาลคอยดูแลด้วย ซึ่งลงมือทำแล้ว อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ตนไม่ได้โยนภาระให้กับประชาชน แต่คิดว่ามาตรการในส่วนที่จะป้องกันโรคระบาด เราทราบดีว่าโรคระบาดเกิดจากการที่คนมาสัมผัสกัน การเว้นระยะห่างระหว่างกันจะช่วยป้องกันได้ เพราะฉะนั้นเพียงแต่เราดูแลตัวเอง ดูแลคนที่เรารัก ก็จะเป็นการช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นระดับหนึ่งด้วย ส่วนเรื่องการจัดการ การควบคุมโรค เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนทำให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจ และอย่าประมาท

เมื่อถามว่า มีประชาชนส่วนหนึ่งไม่เชื่อใจ และต่อต้านมาตรการของรัฐ เช่น กระแสนั่งกินอาหารในร้านหรือการออกมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ นายสาธิต กล่าวว่า ต้องกลับไปจุดเดิมว่าในสถานการณ์วิกฤต เราทะเลาะกันไม่ได้ เอาเหตุผลมาคุยกัน ไม่ชอบ หรือไม่เห็นด้วย ก็มีสิทธิที่จะเสนอข้อมูล คนทำก็มีข้อจำกัด และมีความตั้งใจ คนวิจารณ์ก็มีความเข้าใจระดับหนึ่ง เอาสิ่งเหล่านี้มาประมวลกัน คนทำก็ต้องรับฟัง ไม่ใช่ว่าพอมีคนไม่เห็นด้วยแล้วไปตำหนิเขาก็ไม่ได้

“เวทีสภาวันนี้พรุ่งนี้มีการตั้งญัตติด่วนเพื่อพิจารณาเรื่องสถานการณ์โควิด คิดว่าจะเป็นประโยชน์ แต่ทั้งหมดต้องขอความร่วมมือจากประชาชน อย่าต่อต้าน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ เราต้องเดินกลับไปสู่สถานการณ์ปกติให้ได้เร็วที่สุด” นายสาธิต กล่าว

ส่วนกรณีประชาชนแห่กลับบ้าน สถานการณ์ผู้ติดเชื้อและเตียงในต่างจังหวัดเป็นอย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า ในต่างจังหวัดในเรื่องของการทำ รพ.สนาม รวมถึงการบูรณาการระบบสุขภาพร่วมกันไม่มีปัญหา หากผู้ป่วยไม่มากเกินไป คิดว่าในต่างจังหวัดยังพอเอาอยู่ แต่ต้องระวังเรื่องเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่มีการแพร่กระจายเร็ว

อย่างไรก็ตาม ต่างจังหวัดมีประสบการณ์ตะครุบสะเก็ดไฟได้ดีมาแล้ว หวังว่าสถานการณ์จะไม่หนักไปกว่านั้น ถือว่าต่างจังหวัดคุมสะเกิดไฟได้ดีกว่า กทม. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้เตรียมพร้อมรับมืออยู่แล้ว รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแล ทั้งหมดนี้อยู่ที่ต้องสะท้อนความเป็นจริงให้ประชาชนทราบ

ทั้งนี้ นายสาธิต ยังกล่าวถึงภาพรวมการฉีดวัคซีนด้วยว่า ยังมีการฉีดให้ประชาชนทั่วไป คู่ขนานไปกับผู้สูงอายุ และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค ในสัดส่วนพอๆ กัน อยากเน้นให้ความสำคัญ ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงให้เร็วที่สุด ยกเว้นพื้นที่ระบาดที่ต้องการหยุดการระบาดจึงต้องเร่งฉีดให้ทุกคนให้เร็วที่สุด แต่ในส่วนของพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดนั้น ขอให้เน้นฉีดให้กลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เร็วที่สุด

Next Post

ผอ.ศบค.ชุดเล็ก ยอมรับสัปดาห์หน้ายอดติดเชื้อโควิดพุ่งอีก แต่ยังไม่เพิ่มมาตรการเข้มงวดขึ้น

ผอ.ศบค.ชุดเล็ก คาดสัปดาห์หน้าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดสูงขึ้นอีก แต่ยืนยันยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติม ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ วันนี้ (2 ก.ค.) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) เป […]