สื่อมวลชน ร้องศาลแพ่ง ขอออกคำสั่งคุ้มครอง ห้ามตำรวจใช้ความรุนแรงสลายม็อบ

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 9 ส.ค.ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยสื่อมวลชนผู้ได้รับผลกระทบจากการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา นำโดยผู้สื่อข่าวจาก Voice TV, The Matter และ Plus Seven ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยการชุมนุมต่อจากนี้ ซึ่งมีแนวโน้มอันสามารถคาดหมายได้ว่าจะได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป

ทั้งนี้คำร้องขอคุ้มครองดังกล่าวคือ สรุปได้ว่า ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (ผบก.อคฝ.) มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรง เช่น ใช้อาวุธปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำร้ายร่างกาย โดยโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนที่สวมปลอกแขนสีขาวหรือสัญลักษณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นสื่อมวลชน รวมทั้งประชาชนผู้มาชุมนุม หรือกระทำการใดอันเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ จำกัดพื้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน และให้คำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน

ขอให้ศาลมีคำสั่งห้าม ผบ.ตร.- ผบช.น. – ผบก.อคฝ. และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และหลักการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนย่อมได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมครั้งนี้ด้วย

ด้านนาย สัญญา เอียดจงดี ทนายความภาคีนักกฏหมายสิทธิมนุษยชนสัมภาษณ์ ว่า วันนี้เป็นการมายื่นให้ศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอีกครั้ง หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนจะมีการชุมนุมวันที่ 7 ส.ค ตนและสื่อมวลชนได้มายื่นไปแล้ว 1 ครั้งแต่ศาลกลับยกคำร้อง ด้วยเหตุผลที่ระบุว่ายังไม่มีข้อมูลว่าจะมีการสลายการชุมนุมโดยความรุนแรงและยังคงเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค.นั้น มีการใช้ความรุนต่อ สื่อมวลชนและประชาชน เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันวันนี้ได้พาสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุม เข้ามาร้องศาลเพิ่มเติม รวมทั้งนำเอกสารหลักฐานพยานต่างๆที่ระบุถึงเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติไปตามขั้นตอนของกฏหมายในการสลายการชุมนุม พร้อมยืนยันว่าการร้องศาลครั้งนี้จะมุ่งไปยังการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมถึงประชาชนก็จะได้รับการคุ้มครองไปด้วย

โดยศาลแพ่งรับคำร้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

Next Post

รองโฆษกพลังประชารัฐ ลาออก! หลังเสนอนายกฯ ปรับ ครม. สลับตำแหน่ง “อนุพงษ์-อนุทิน”

“สัณหพจน์” ยัน “ความคิดเห็นส่วนตัว” กรณีชงนายกฯ ปรับ ครม. ขออภัยทำให้เข้าใจผิด พร้อมรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งรองโฆษก และเลขาธิการภาค 8 พรรคพลังประชารัฐ วันนี้ (9 ส.ค.) นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตนแสดงความคิดเห็นเป็นข้อเสนอต่อ พล.อ.ป […]