สุชาติ รอเคาะเยียวยาคนกลางคืน แย้มจ่ายรายละ 5,000 ลูกจ้าง ม.33 อาจได้อีก

“สุชาติ” เตรียมเคาะพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) เยียวยาคนกลางคืน-อาชีพอิสระ คาดรายละ 5 พันบาท พร้อมชงโมเดลช่วยลูกจ้างในระบบ ม.33 อาจได้ 2 เด้งจากประกันสังคม–รัฐบาล

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการเยียวยานักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า เรื่องนี้ขอดูตัวเลขกับผู้ประกอบการก่อนในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ แต่เบื้องต้นมีตัวเลขในระบบอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่เป็นอาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 ซึ่งเดิมมีการเยียวยาไว้ที่ 5,000 บาท 29 จังหวัด ขณะนั้นมีอยู่ 2 หมื่นกว่าราย แต่หากรวมทั้งประเทศ คาดว่าไม่เกิน 1-2 แสนคน

นอกจากกลุ่มดังกล่าวแล้วยังรวมไปถึงกลุ่มคนขับรถรับส่งนักดนตรี เด็กเสิร์ฟ หรืออาชีพที่ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ และสมาคมฯ ยืนยันได้ และต้องดูอายุ หากเกิน 65 ปีจะไม่เข้าข่ายมาตรา 40 อาจจะประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ต้องรอดูตัวเลขจากสมาคมฯ ที่จะมาพบตนในเวลา 14.00 น. วันที่ 3 ธ.ค. ว่า ตัวเลขคนกลุ่มดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด ซึ่งการเสนอขอสภาพัฒน์ฯ ต้องมีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีปริมาณเท่าใด ซึ่งไม่สามารถพูดลอยๆ ได้ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมคาดว่าจะได้ข้อสรุป เนื่องจากตัวเลขของรัฐบาลกับของผู้ประกอบการต่างกันหลายเท่าตัว โดยในหลักการนายกรัฐมนตรีให้การเยียวยาอยู่แล้ว

ซึ่งตนมีธงในใจไว้ที่ 5,000 บาท เพราะเป็นเงินกู้ของรัฐบาลไม่ใช่เงินของกองทุนประกันสังคม แต่มีบางกรณีใช้เงินในเหตุสุดวิสัยในมาตรา 33 หรือ ร้อยละ 50 เข้าข่ายช่วยอีกทางหนึ่งในกลุ่มลูกจ้างในระบบ เช่น เด็กเสิร์ฟ เสมียน ซึ่งในส่วนนี้จดทะเบียนในประกันสังคม แต่เรื่องนี้เป็นเพียงหลักการของตนซึ่งยังไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุม แต่เราต้องมีโมเดลในใจ ดังนั้นหากเป็นลูกจ้างในมาตรา 33 ด้วยก็อาจจะได้รับการเยียวยา 2 ทาง คือ สำนักงานประกันสังคม และจากรัฐบาล

นอกจากนี้ นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรามีบรรทัดฐานการเยียวยา 5,000 บาทจากครั้งก่อน ซึ่งการเยียวยาสถานบริการบันเทิงส่วนใหญ่เป็นบริษัท เขาสามารถใช้สิทธิ์ SME ได้ ซึ่งให้หัวละ 3,000 บาทในลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ซึ่งเป็นโมเดลที่รัฐบาลสร้างไว้เพื่อการเยียวยาอยู่แล้ว ขณะที่ลูกจ้างในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ก็สามารถใช้คำสั่ง ศบค. เยียวยาเหตุสุดวิสัยได้

เตรียมแจง ศบศ. โวตัวเลขจ้างงานปี 64 สูงกว่า 6 แสนราย เผยภาคส่งออกเกือบ 100%

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการเสนอเรื่องของกระทรวงแรงงานในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ในวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) ว่า ตนจะเสนอรายงานตัวเลขการจ้างงานและการว่างงาน จากตัวเลขในระบบประกันสังคมตามเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ที่ขณะนี้มีประมาณ 11 ล้านคน เพราะเป็นตัวเลขที่จะทำให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แนะนำให้ใช้เป็นตัวเลขอ้างอิง แทนการใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง เพราะตัวเลขจะไม่นิ่ง

หากสอบถามก็จะระบุกลับมาว่า ว่างงานทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ สวนทางกับกลุ่มธุรกิจส่งออก ที่จะบอกว่ายังต้องการแรงงานทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการใช้เลขประจำตัว 13 หลัก ยังทำให้รู้ได้อีกว่าผู้ประกันตนที่ออกจากบริษัทหนึ่ง แล้วไปอยู่อีกบริษัทหนึ่งเมื่อไหร่ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแจ้งเข้าระบบประกันสังคม นอกจากนี้ จะรายงานให้ที่ประชุมทราบว่ามีธุรกิจประเภทใดและจังหวัดใด ที่การจ้างงานเริ่มฟื้นตัวบ้าง

นายสุชาติ กล่าวอีกด้วยว่า ตัวเลขการจ้างงานในปี 2564 พบว่าเป็นบวก มีจำนวนกว่า 6.8 แสนคน โดยเฉพาะการส่งออกจากโครงการ Factory Sandbox เป็นภาคธุรกิจที่แข็งแรง ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว กำลังฟื้นตัว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เก็บข้อมูลการจ้างงานในธุรกิจประเภทดังกล่าว ดังนั้นการสื่อสารตัวเลขที่แท้จริงนี้จะทำให้นักลงทุนเข้าใจ

ทั้งนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า ธุรกิจประเภทต่างๆ ไม่ได้หายไปพร้อมกันหมด เพราะมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่ามีธุรกิจที่ฟื้นตัวกว่า 98% เช่น ส่วนค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าก็ฟื้นกว่า 80-90% ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและบริการ ฟื้นประมาณ 40%

Next Post

Business of IP Asia Forum opens today

HONG KONG, Dec 2, 2021 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – Jointly organised by the Government of the Hong Kong Special Administrative Region (HKSAR), the Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) and Hong Kong Design Centre, the 11th Business of IP Asia (BIP Asia) Forum kicked off to […]