“อดีตสามเณรโฟล์ค” เปิดใจ หลังฟังคำตัดสินศาล รธน. พร้อมเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ

“เสียใจที่ประเทศนี้ไม่อนุญาตให้เด็กฝัน” อดีตสามเณรโฟล์ค เปิดใจหลังฟังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ เดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ

นายสหรัฐ สุขคำหล้า หรือ อดีตสามเณรโฟล์ค หลังลาสิกขาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่วัดม่วงชุม อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ตามมติของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ให้ดำเนินตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง หลังพบมีพฤติกรรมขัดต่อคำสั่งมหาเถรสมาคม กรณีสามเณรเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่งตีความว่าเป็นการใส่ความคณะสงฆ์ให้เสื่อมเสียหรือแตกแยก

สหรัฐ เปิดเผยกับทีมข่าว News ว่า วันแรกหลังลาสิกขาก็รู้สึกใจหาย เนื่องจากมีความผูกพันกับญาติโยมที่อุปถัมภ์กันมา เข้าใจความหมายของคำว่าเสรีภาพคือคำสาป แต่ตนก็ต้องยอมรับในสิ่งที่เลือก อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็มีหลายคนเสนองาน เสนอที่พัก หรือการศึกษาให้ มันทำให้เห็นภราดรภาพของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยที่ตัวเองไม่ต้องมีจีวรแล้วก็ตาม แต่ก็รู้สึกเสียที่ประเทศนี้ไม่อนุญาตให้เด็กฝัน ยกตัวอย่างเช่น มหาเถรสมาคม เป็นต้น

ระยะเวลา 5-6 เดือนหลังจากนี้จะเรียนปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยมหิดลต่อ ให้จบตามคำขอของตากับยาย ก่อนที่จะกลับมาเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว โดยการกล่าวระหว่างลาสิกขาว่า “ขอให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายโปรดจดจำว่าข้าเป็นคอมมิวนิสต์” ถือเป็นการประกาศว่าหลังจากนี้ ตนก็จะเคลื่อนไหวในเรื่องของแรงงาน และการจัดตั้งสหภาพแรงงานต่อ เพื่อให้คนตระหนักถึงสิทธิ์ของตนเอง

สหรัฐ กล่าวต่อว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมปราศรัยของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 นั้น ตนเห็นว่ามันคือจุดแตกหักทางการเมืองระหว่างรุ่น

ตนไม่แปลกใจที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็นแบบนี้ อย่างไรก็ตามเราจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ก็พยายามสร้างสถาบันประชาชน เพื่อเน้นย้ำความเป็นคนเท่ากัน หลังจากนี้ การชุมนุมเรียกร้องก็ยังจำเป็นอยู่ และคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่อีกมุมหนึ่งที่ตนมองว่าต้องทำเพิ่มเติมควบคู่กันไปคือการเข้าถึงประชาชน เช่น ชาวนา หรือแรงงาน ให้เขาเข้าใจถึงคุณค่า และอำนาจอธิปไตยของเขา เพราะต่อให้เราเรียกร้อง แต่ประชาชนที่เป็นฐานยังไม่มีเข้มแข้งเพียงพอก็ไปต่อไม่ได้

เมื่อถามว่ากลัวว่าวันหนึ่งจะมีคนยื่นร้องศาลให้พิจารณาว่าการอ้างตัวว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นการล้มล้างการปกครองบ้างหรือไม่ สหรัฐ มองว่า เรื่องผีคอมมิวนิสต์ เป็นวาทกรรมที่รัฐใช้มาจนคนเบื่อแล้ว และหากจะเป็นภัยต่อรัฐได้ก็ต้องใช้ความรุนแรงให้เท่ากับรัฐที่ปราบปรามประชาชน แต่ตนไม่ได้ใช้ปืนหรืออาวุธ ตรงกันข้าม ตนพยายามหาทางเพื่อให้เกิดการล้มตายจากความขัดแย้งนี้ให้น้อยที่สุด

“ไม่ใช่ยุคปี 49 หรือ 53 ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามือที่มองไม่เห็นมันมีเนื้อหนัง มีกลไก อย่างไร เมื่อก่อนที่เราคิดว่าสถาบันต่างๆ เป็นกลาง แต่ภาพเทวดาที่เห็นในอดีตมันจางหาย กลายเป็นรูปโฉมมาร เราต้องยอมรับว่ามันคือความอัปยศของประเทศไทย เราต้องเรียนรู้เพื่อที่จะไม่ให้มันเกิดอีกในรุ่นหลัง อย่างไรก็ตามการกล่าวถึงสถาบันจะยิ่งมีมากขึ้น ไวและแรงกว่าเดิม ตามยุคสมัยและอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย แต่ตนไม่อยากให้ถึงจุดแตกหักนั้น” สหรัฐกล่าว

 ผู้เขียน : อรรถชัย หาดอ้าน 

Next Post

"พลังประชารัฐ" ยังฝุ่นตลบ...ไร้เงาผู้สมัครชิงเก้าอี้ ผู้ว่าฯ กทม.

หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศถอนตัวจากการลงสมัครผู้ว่า กทม. ก็มีกระแสข่าวคาดการณ์ชื่อผู้สมัครผู้ว่า กทม. ในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กันออกมาหลายชื่อ อาทิ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่เคยประกาศ […]