“อนุดิษฐ์” สงสารเด็กไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์ แต่ รมต.ได้ไอโฟน 111 เครื่อง

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว News ถึงกรณีสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดซื้อไอโฟน12 จำนวน 111 เครื่อง ด้วยงบประมาณ 2.6 ล้านบาท ให้แก่ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนตัวเห็นว่าในช่วงเวลาที่สังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก หน่วยงานที่ใช้จ่ายงบประมาณส่วนนี้ต้องมีคำอธิบายว่า การใช้จ่ายครุภัณฑ์เหล่านี้สมเหตุสมผล หรือคุ้มค่ากับภาษีประชาชนที่ใช้ไปหรือไม่ ตอบสนองต่อภารกิจหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การใช้จ่ายงบประจำที่ตั้งมาแล้วก็ใช้ไปให้หมด แต่ไม่มีความคุ้มค่า

แม้ว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะชี้แจงว่ารุ่นที่ใช้อยู่คือ ไอโฟน 7 ซึ่งเสื่อมสภาพแล้ว แต่การซื้ออุปกรณ์สื่อสารใหม่ต้องใช้มือถือที่มีสเปคสูงขนาดนี้หรือไม่ อีกทั้งผู้ที่ใช้งานจริงเป็นข้าราชการประจำเพียงแค่ 25% แต่อีก 75% คือข้าราชการการเมือง หรือนักการเมืองที่มีฐานะอยู่แล้ว และการใช้งานก็เพียงสื่อสาร ส่วนการประชุมทางไกล (Video Conference) ก็มักจะใช้โน้ตบุ๊ก ซึ่งข้าราชการการเมืองส่วนใหญ่ก็มีโน้ตบุ๊กประจำตัวหรือประจำตำแหน่งอยู่แล้ว

หากวิเคราะห์ไปถึงโครงสร้างของงบประมาณประจำ ในฐานะที่ตนเคยทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร มาหลายครั้ง เข้าใจเหตุผลว่าที่ตั้งงบเพื่อตอบสนองภารกิจ แต่มันเป็นการตั้งงบแบบเคยทำกันมาแบบไหนก็ตั้งกันไปแบบนั้นเพื่อที่จะรักษาสิทธิของการใช้จ่ายงบประมาณ โดยหลายเรื่องอาจขาดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้งบประมาณ ซึ่งทางฝ่ายค้านก็พยายามตรวจสอบ และตัดทอนงบประมาณที่มันสุรุ่ยสุร่ายในแต่ละปีออกไปให้มากที่สุด แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากกรรมาธิการเสียงข้างมาก หรือถ้าจะตัดทอนก็ตัดทอนได้เพียงเล็กน้อย ซึ่งตรงนี้เป็นข้อแม้สำคัญที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ละปี ไม่มีการจัดการงบประมาณที่มันคุ้มค่ากับการนำภาษีประชาชนมาใช้จ่าย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับไปหลายตัว เหลือแค่การใช้จ่ายภาครัฐที่จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ยิ่งทำให้ตนรู้สึกเสียดายมาก เพราะงบประมาณของภาครัฐควรใช้จ่ายแล้วไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศ แต่การที่เราเสียเงินซื้ออุปกรณ์ที่เขานำเข้ามาจากต่างประเทศ 100% เหมือนการซื้อมาขายไป ซึ่งมันไม่กระตุ้นเศรษฐกิจและความคุ้มค่าในเวลาที่ประเทศอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจ

นอกจากนี้มันยังสะท้อนให้เห็นผลเสียของรัฐราชการรวมศูนย์ที่ให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน แม้ว่าการเทียบเคียงกรณีไอโฟนกับโครงการ One Tablet PC per Child อาจจะไม่ใช่คู่เปรียบเทียบที่ถูกต้องนัก เพราะการจัดหาแทปเล็ตเป็นงบลงทุนที่มีจำนวนมาก แต่มันทำให้มองเห็นว่า การจัดซื้อแท็บเล็ตในครั้งนั้นที่ไม่ต่อเนื่องเพราะคณะรัฐประหารยกเลิก ทำให้การพัฒนาของเยาวชนมีข้อจำกัด โดยเฉพาะตอนนี้ที่เด็กต้องการอุปกรณ์เหล่านี้ในการเรียนออนไลน์ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเด็กขาดอุปกรณ์ รวมไปถึงค่าโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีราคาสูงจนหลายครอบครัวเข้าไม่ถึง ซึ่งกลายเป็นปัจจัยลบของเยาวชนที่ต้องเติบโตเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศและเป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป วันนี้ ลูกหลานเราไม่มีแม้แต่อุปกรณ์เรียนหนังสือออนไลน์ในสถานการณ์โรคระบาด ควรเป็นบทเรียนสำคัญของรัฐบาลในอนาคตว่าความจำเป็นนี้ควรถูกบรรจุในนโยบายประเทศต่อไป เพื่อไม่ให้เด็กไทยขาดโอกาสและตามโลกไม่ทัน

“ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่บริหารปะเทศมาตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 ให้ความสำคัญกับผู้มีอำนาจมากกว่าประชาชน เพราะถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง คงไม่ปรากฎภาพของโครงการเหล่านี้ออกมาอย่างมากมายแน่นอนและโครงการดีๆ เช่น One Tablet PC per Child ที่คณะรัฐประหารยกเลิกไป ก็คงมีต่อเนื่องและเราคงไม่เห็นเด็กไทยถูกทอดทิ้งทางการศึกษาอย่างแน่นอน” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

ผู้เขียน – อรรถชัย หาดอ้าน

Next Post

Sustainable, People-centered Solutions for Affordable Housing to Take Center Stage at Eighth Asia-Pacific Housing Forum

BANGKOK, Nov 25, 2021 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – The Asia-Pacific Housing Forum taking place from December 7 to 9 highlights the urgent need to build sustainable, inclusive, and affordable housing, in a region where millions of people live in extreme poverty below the threshold […]