“อนุทิน” เซ็นแล้ว! ปรับโควิดให้รักษาฟรีตามสิทธิ-ฉุกเฉินใช้ UCEP ได้ เริ่ม 1 มี.ค.

“อนุทิน” เผยเซ็นประกาศให้ “โควิด” เป็นโรคที่ให้รักษาฟรีได้ตามสิทธิของประชาชนแต่ละคน พร้อมย้ำว่าหากมีอาการฉุกเฉินวิกฤตยังสามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป

วันนี้ (21 ก.พ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้โรคโควิด-19 รักษาตามสิทธิ ตามที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้นำเสนอขึ้นมา โดยจะมีเริ่มผลในวันที่ 1 มี.ค.นี้

พร้อมทั้งได้กำชับให้อธิบดี สบส. ไปชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิหรือยกเลิก แต่เป็นการกำหนดขั้นตอนและมาตรฐานให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดการใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่หากมีอาการฉุกเฉินวิกฤตยังสามารถใช้สิทธิ UCEP รักษาทุกที่ได้ ส่วนอาการฉุกเฉินแบบที่จะปรับให้ใช้สิทธิแบบ UCEP Plus จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นตอนออกมา แต่ในทางปฏิบัติคิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องการให้บริการ เพราะ UCEP Plus ไม่ได้ดูแลเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีโรคร่วม หรือผู้ที่มีอาการรุนแรงเพียงอย่างเดียว แต่หากผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่อยู่ระหว่างการรักษาที่บ้านและชุมชน (Home Isolation and Community Isolation) แล้วอาการเปลี่ยนแปลง มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็สามารถใช้สิทธินี้ได้ เพื่อเข้ารักษาเร่งด่วนฉุกเฉิน

เมื่อถามว่า ประกาศดังกล่าวจะทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. โควิดจะไม่ใช่โรคฉุกเฉิน ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า คำจำกัดความ คือ โรคที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของประชาชนแต่ละคน

ส่วนการเตรียมยารักษานั้น นายอนุทิน ระบุว่า ขณะนี้มีความจำเป็นต้องเพิ่มยาฟ้าทะลายโจรมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่ออกเลย ถ้ารับยาฟาวิพิราเวียร์ไปก็เหมือนกับเกินขนาน ซึ่งฟ้าทะลายโจรสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนฟาวิพิราเวียร์เป็นยาฆ่าไวรัส ถ้าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหลายกรณีจะใช้ฟ้าทะลายโจร

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า สำหรับการเตือนภัยโควิด ยังคงไว้ที่ระดับ 4 ใช่หรือไม่ ต้องยกเป็นระดับ 5 หรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ยัง ตรงนี้เป็นอำนาจของ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนสถานการณ์เตียงไอซียูเริ่มเต็มในช่วงนี้นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า จากการตรวจสอบกับปลัด สธ. ทุกเช้า ยืนยันว่า ระบบการสาธารณสุขยังสามารถให้การดูแล ต้องไปดูเรื่องประเภทของคนป่วย HI/CI เรามีกติกากำหนดไว้ว่าจะดูจากอาการของผู้ป่วย ว่าระดับไหนจะได้รับการดูแลอย่างไร ถ้าคนที่ไม่แสดงอาการก็อยู่ HI/CI ซึ่งกรณีแยกกักไม่ได้ที่บ้าน เรามี CI ต้องผ่านเป็นขั้นตอนก่อน

กทม.ก็ยืนยันกับ สธ. ว่า HI/CI เขาพร้อม กทม.มีเตียง CI พร้อม ก่อนไปถึง Hospitel เรายังเตรียมโรงพยาบาลสนาม อย่างโรงพยาบาลปิยะเวทจะเอาอุปกรณ์ฉุกเฉินต่างๆ ของโรงพยาบาลสนามปิยะเวทที่ตั้งอยู่ 200-300 เตียงมามอบให้ สธ. เราก็ขอให้คงโรงพยาบาลสนามไว้ก่อน

ตนหารือไปทาง ปตท. ที่เป็นผู้สนับสนุนหลัก เขาก็ยินดีคง รพ.สนามไว้ ที่ก็ยังไม่เต็ม อาจจะมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน เมื่อเช้าประสาน สปสช. ให้เพิ่มคู่สายที่จะรับลงทะเบียนจดแจ้งผู้ป่วยและดำเนินการตามมาตรการ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ลงทะเบียนผ่านระบบสายด่วน 1330 และไลน์ @nhso

ส่วนจะมีการเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ ในวันพุธนี้ เพื่อปรับมาตรการ Test&Go โดยลดการตรวจ RT-PCR เหลือเพียงครั้งเดียวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้มีการพิจารณากันอยู่ ซึ่งมีข้อมูลมาว่าไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น ไม่ได้มีประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพระหว่างการทำหรือไม่ทำก็ไม่ต่างกันเท่าไร การทำ RT-PCR เป็นการเพิ่มภาระของผู้เดินทาง เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ เพราะผู้เดินทางต้องเสียค่า RT-PCR เกือบพันบาท และมีค่าบวกต่างๆ ของโรงพยาบาล และโรงแรม รวมทั้งต้องจองไปโรงแรม เป็นการเพิ่มภาระและขั้นตอน

ตอนนี้ที่ได้รับการร้องเรียนมา คือ ประกันสุขภาพจะกำหนดอย่างไร ยิ่งกำหนดมากเบี้ยประกันก็สูงมาก ก็เป็นภาระ เราก็รับฟังทุกเรื่องและพยายามที่จะเร่งแก้ไข

Next Post

ประยุทธ์ลั่น พล.ต.ต.ปวีณ ออกไปเอง ลั่นบ้านเมืองมีขื่อแป ยืนยันปมค้ามนุษย์ดีขึ้น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อวันจันทร์ (21 ก.พ.) ถึง พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่ลี้ภัยในประเทศออสเตรเลียว่า อดีตตำรวจรายนี้ออกจากประเทศไปเอง และที่ผ่านมาทุกอย่างเกิดขึ้นตามหลักกฎหมาย “ใครจะไปทำอะไรเขาได้ล่ะ […]