แอมเนสตี้-รุ้ง ยื่นเกือบสามหมื่นรายชื่อถึงนายกฯ เรียกร้องยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นต่าง

นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยพร้อมกับ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นำ 28,426 รายชื่อของประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และแคมเปญออนไลน์บนเว็บไซต์ Change.org มอบให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านตัวแทนและรับฟังคำมั่นสัญญาต่อประชาชนในการปฏิบัติเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทางการไทย

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ทางสำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เป็นการรณรงค์เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนคนทั่วโลกร่วมกันส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ทั้งที่มีการควบคุมตัวและลงโทษนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมโดยพลการ ซึ่งพวกเขาเพียงแค่ชุมนุมโดยสงบและแสดงความเห็นทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกินกว่าเหตุและโดยไม่จำเป็นเพื่อสลายการชุมนุมด้วย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย

“แกนนำผู้ชุมนุม อย่างทนายอานนท์ นำภา ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ไม่ควรต้องมาถูกควบคุมตัวตั้งแต่แรกและยังถูกปฏิเสธไม่ให้พวกเขาได้ใช้สิทธิในการประกันตัวหรือเพิกถอนการประกัน

จากการพูดคุยกับทางทนายความทราบว่า พวกเขาถูกควบคุมตัวในสภาพที่เลวร้าย ซึ่งทางเรากังวลอย่างยิ่งต่อปัญหาสุขภาพและสวัสดิภาพของพวกเขา เนื่องจากทั้งจตุภัทร์ และพริษฐ์ ได้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่อยู่ระหว่างการควบคุมตัว นอกจากนั้นเรายังมีความกังวลต่อกรณีการฟ้องคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบคนอื่นๆ รวมทั้งกรณีของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งได้ถูกแจ้งข้อหาในคดีอาญาเพิ่มเติมจากการชุมนุมโดยสงบเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา”

ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทยยังระบุอีกว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีบุคคลอย่างน้อย 1,634 คน รวมถึงเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 257 คน ใน 166 คดี ถูกดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งหลายคนเสี่ยงที่จะได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน อาจถึงขั้นถูกจำคุกตลอดชีวิต นอกจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตอบโต้การชุมนุมโดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชน ซึ่งมักละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำราวจได้ตอบโต้โดยการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุเพื่อสลายการชุมนุม ทั้งยิงแก๊สน้ำตา เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี ทุบตีและใช้กระสุนยางด้วย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทย ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อภายใต้ปฏิบัติการด่วนที่มีการณรงค์ไปทั่วโลก ต่อกรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยได้มีการทำแคมเปญรณรงค์ออนไลน์บนเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย และเว็บไซต์ของ Change.org จนสามารถรวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนได้เกือบสามหมื่นรายชื่อ

“เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติวงจรของการปราบปรามผู้เห็นต่าง และปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งเคารพและปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และประกันว่าการปฏิบัติต่อการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการชุมนุมที่ไม่สงบ จะต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน เจ้าหน้าที่ต้องงดเว้นจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบ ไม่ให้ถูกแทรกแซงหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากบุคคลที่สามด้วย” ปิยนุชกล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้

1. ยุติการดำเนินคดีอาญาทั้งปวงโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในขณะนี้

2. อนุญาตให้บุคคลสามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมโดยสงบได้ และไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจนเกินขอบเขตที่อาจเป็นการจำกัดการใช้สิทธิของพวกเขาโดยพลการ

3. ให้ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และโปร่งใสต่อการรายงานที่ว่ามีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการควบคุมตัวบุคคลและควบคุมการชุมนุมในทุกกรณี ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติของตำรวจที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทยรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการจะขอในวันนี้ คือการขอให้ทางการไทยคืนสิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน เพราะผู้ต้องขังทางความคิดไม่จำเป็นต้องอยู่ในนั้นแต่แรกอยู่แล้ว

“การเมืองเราต่อสู้กันด้วยอุดมการณ์ ด้วยความคิด แต่เมื่อมีผู้มีอำนาจมากกว่าคนหนึ่ง และมีผู้ต้องการมาต่อต้าน แล้วเขาก็ใช้อำนาจนั้นในการจับขังทุกคนที่เขาไม่ต้องการให้อยู่ข้างนอก ซึ่งเราคิดว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าละอายต่อชาวโลก มันเป็นสิ่งที่มันน่าอับอายมาก ๆ ที่เราพร่ำพูดว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย อยากให้เด็กๆ โตมาเป็นอนาคตของประเทศ เรียนเก่งๆ ฉลาดๆ จะได้โตมาเป็นคนที่มีคุณภาพของประเทศนี้ แล้วพอเราเรียนมา เรารู้ปัญหา เราออกมาพูด คุณก็จับขังพวกเรา และดำเนินคดีต่อพวกเรา

เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่จะขอวันนี้ คือการให้สิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน เพราะเขาไม่จำเป็นต้องอยู่ในนั้นแต่แรกอยู่แล้ว

และเมื่ออยู่นานเข้า ในเรือนจำก็ยังแก้ปัญหาโควิดไม่ได้ และคิดว่ากำลังจะกลับมาระบาดอีกรอบด้วยซ้ำในเรือนจำ แต่มันไม่เคยถูกพูดถึง เพราะในนั้นเป็นแดนสนธยา ถ้าไม่มีคนออกมาพูดก็คงไม่มีข้อมูลว่าคนในเรือนจำมีคนติดโควิดไปแล้วกี่คน เราไม่มีทางรู้หรอกว่าในนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนเราบ้าง เช่นนั้นเราต้องเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาออกมาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเราจะสู้กันทางความคิด เราก็มาสู้กันข้างนอกค่ะ”

พร้อมย้ำว่า “ที่คุณทำแต่ละอย่างในแต่ละประเทศ ทั้งการสลายการชุมนุมเอง การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุม การจับขังผู้ชุมนุม มันไม่มีอะไรดีเลย แต่มันดีสำหรับนายก และที่คุณได้เป็นรัฐบาลในตอนนี้ เราขอถามจริง ๆ ว่าคุณคิดว่ามันบริสุทธิ์ใจไหม เราคิดว่ามันไม่ใช่”

ด้านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนรับรายชื่อแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ขอบคุณนะครับ จะนำเสนอท่านนายกรัฐมนตรี ทางเราจะหาทิศทางต่อไป”

Next Post

วิษณุ ชี้มาตรา 112 แก้ผ่านกลไกสภาได้ ยอมรับเรื่องละเอียดอ่อน แต่ไม่ต้องประชุมลับ

“วิษณุ” ชี้ ม.112 แก้ไขผ่านกลไกสภาได้ ยอมรับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ไม่จำเป็นต้องประชุมลับ ยกเว้นถ้าใครพูดอะไรแปลก ก็ต้องประชุมลับ วันนี้ (1 พ.ย.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในการแสดงจุดยืนต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ผ่านกลไกรัฐสภาจะสามารถแก้ไขไ […]