Privacy vs. Security! ความเป็นส่วนตัวในการเปิดเผยข้อมูลวัคซีนมีจริงไหม?

จากกรณีที่เฟซบุ๊กแฟนเพจนำข้อมูลการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่นเดียวกับกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลการรับวัคซีนของ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง นอกจากประเด็นของการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองแล้ว คำถามที่หลายคนอาจจะอดคิดไม่ได้คือ ในสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ คนธรรมดาอย่างเราๆ มีสิทธิในการปกปิดข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับการรับวัคซีนมากน้อยแค่ไหน?

 ความเป็นส่วนตัวกับอำนาจของบุคคลสาธารณะ

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว News ถึงประเด็นนี้ว่า คนส่วนมากอาจไม่คุ้นเคยกับคอนเซ็ปต์ความเป็นส่วนตัว มีแนวโน้มที่จะคิดว่าความเป็นส่วนตัวต้องเป็นความลับที่ไม่ให้ใครรู้ได้เลย แต่ความจริงมันมีหลายมิติ ทั้ง ความลับ, พื้นที่ส่วนตัว, หรือพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น ที่นั่งทำงานในร้านกาแฟ หรือแม้แต่ในคอนโด ที่เราคาดหวังว่าจะไม่ถูกรบกวนจากสิ่งภายนอก แต่บางครั้งอาจเกิดการรบกวนที่เราไม่ได้คาดคิดเช่น ระฆังจากวัดในเช้าวัดหยุดที่ดังมาในคอนโด หรือโต๊ะข้างๆ ดูหนังเสียงดังในร้านกาแฟ เป็นต้น  

เรามองเรื่องความเป็นส่วนตัวในลักษณะว่าต้องไม่ให้ใครรู้เลย เก็บเอาไว้คนเดียว หรือเรื่องส่วนตัวต้องไม่มีใครรู้เด็ดขาด ความเป็นส่วนตัวแม้ว่าจะมีมิติที่เราอยากอยู่คนเดียว แต่มันมีมิติอื่น เช่น เรานั่งอยู่ในร้านกาแฟ มันเป็นพื้นที่ส่วนตัวระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในพื้นที่ส่วนรวม ใครๆ ก็สามารถมองเห็นเราได้ และตัวเราเองก็รู้ ว่าใครๆ ก็มองเห็นเราได้ มันมีความเป็นกึ่งสาธารณะส่วหนึ่งที่เราเองก็ยอมรับ แต่ก็ยังไปนั่งตรงนั้น และมีความคาดหวังบางอย่างว่าในระหว่างที่อ่านหนังสือจะไม่มีใครมารบกวนเรา เราสามารถมีความคาดหวังที่อยู่เงียบๆโดยไม่มีใครมารบกวนในพื้นที่สาธารณะได้เหมือนกัน ใครมาดูหนังเสียงดัง แม้จะไม่ได้รบกวนโดยตรง แต่เสียงก็พุ่งไปรบกวนโต๊ะอื่นๆ ทำให้ความเป็นกึ่งส่วนตัวนี้หายไป หรือเคสการซื้อคอนโด เราคาดหวังที่จะไม่มีเสียงรบกวนในเช้าวันหยุด แต่ปรากฎว่ามีเสียงระฆังจากวัด หรืออะไรพวกนี้ลอยเข้ามาในห้อง เราก็เสียความเป็นส่วนตัว

อีกมุมหนึ่ง คือ ข้อมูลส่วนบุคคลที่เจ้าตัวไม่สามารถควบคุมได้ ถูกนำออกไปเผยแพร่ ซึ่งในกรณีวัคซีนกับความเป็นส่วนตัวก็ยากที่จะเข้าใจตรงกัน เพราะเราอาจมองไปตามมิติที่เราให้ความสำคัญต่างกัน ขณะเดียวกัน ในกรณีของธนาธร มีเรื่องของความคาดหวังต่อบุคคลสาธารณะรวมอยู่ด้วย บุคคลสาธารณะ คือคนที่มีอำนาจในเรื่องนั้นๆ เหนือกว่าคนทั่วไป เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีความรับผิดชอบที่เยอะกว่าตามมาด้วย เช่น ธนาธร คือคนที่กำลังพูดถึงวัคซีน และการตรวจสอบอำนาจรัฐ แม้จะไม่ได้วิจารณ์ตัวประสิทธิภาพของแอสตร้าเซนเนก้าโดยตรงว่าดีหรือไม่ดี แต่คนย่อมมีความคาดหวังกับธนาธรมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ประกอบกับภาพลักษณ์ของพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้ามีความเป็นนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนความเท่าเทียม แต่ถ้าดูไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนแล้วคนที่ฉีดก็ไม่น่าจะมีเยอะ การจัดสรรวัคซีนยังไม่ดี วัคซีนยังจำกัดหรือยังเป็นของพรีเมียมในตอนนั้น และธนาธรก็ไม่น่าจะอยู่ในกลุ่มที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน จึงถูกตั้งคำถามว่าใช้อภิสิทธิ์หรือไม่

แม้เรื่องนี้จะมีจุดประสงค์ในการโจมตีทางการเมือง แต่ก็เป็นภาระของธนาธรที่ต้องชี้แจงเพื่อความน่าเชื่อถือในการพูดเรื่องวัคซีนต่อไป แต่หากธนาธรจะไม่พูดก็มีสิทธิเช่นกัน เพราะหากมองว่าเอาข้อมูลทางการแพทย์มาเปิดเผยโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม ก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ถ้ามันหลุดออกมาแล้ว เจ้าตัวก็มีภาระที่ต้องอธิบาย

ในทางกลับกัน คนดูแลข้อมูล คือ กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องตอบคำถามเช่นกันว่าข้อมูลเหล่านี้หลุดมาได้อย่างไร และหากหลุดมาคนหรือสองคน แสดงว่าอาจจะหลุดมาหมดเลยหรือไม่? ขณะเดียวกันเพื่อความโปร่งใสในการตรวจสอบ เช่น กรณีที่มีข่าวว่าทหารมาลงทะเบียนฉีดวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก รัฐจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลหมดเลยหรือไม่? คำตอบก็คือไม่ เพราะการเปิดเผยชื่อทั้งหมดก็อาจจะละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ เนื่องจากมีทั้งคนที่มีอำนาจมากและน้อยปนกันไปในชื่อเหล่านั้น แต่การเปิดเผยข้อมูลอาจจะไม่จำเป็นต้องเปิดชื่อ แต่เปิดเผยเป็นกลุ่มอายุ อาชีพ เป็นต้น

จากกรณีการตั้งคำถามของ คำ ผกา ว่าข้อมูลการฉีดวัคซีนมันเป็นความลับจริงไหม? อาทิตย์ กล่าวว่า ความลับกับความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เราต้องดูอย่างแรกคือมันเป็นข้อมูลที่เจ้าตัวยินยอมให้คนอื่นรู้ได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องเปิดเผยหรือไม่ เช่น หากมีข้อยกเว้นให้ต้องเปิดเผยเพราะส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น แต่กรณีนี้ก็ยังเป็นข้อถกเถียงทั่วโลกว่า ต้องเปิดเผยข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ใครมีสิทธิที่จะได้รับรู้ และรับได้หรือบันทึกไว้ได้นานแค่ไหน ซึ่งการเปิดเผยนี้ต้องไม่กระทบมิติอื่นของเจ้าตัว การตัดสินใจในการใช้ชีวิตของเจ้าตัว ตามเหตุผลที่รัฐชี้แจงว่าจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ เช่น การเปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนของสหภาพยุโรป จะเปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีนแค่ 3 ข้อ คือ 1.ชื่อผู้รับวัคซีน 2.วันที่ฉีด 3.ประเภทของภูมิคุ้มกัน เช่น มาจากการรับวัคซีน หรือมาจากการติดเชื้อโควิดและรักษาหายแล้ว เพื่อทราบว่าคุณมีภูมิหรือไม่ โดยจะเปิดเผยเฉพาะการบริการเชิงสันทนาการและความบันเทิงที่ไม่ได้จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เช่น ร้านอาหาร หรือบาร์ แต่จะไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลเหล้านี้ต่อการใช้บริการสาธารณะ เช่น ขนส่ง เพราะถือเป็นสิทธิ์ที่พลเมืองทุกคนต้องเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน รัฐไม่มีสิทธิ์ใช้เรื่องข้อมูลการฉีดวัคซีนมาเลือกปฏิบัติ เพราะบางคนอาจมีเหตุผลจำเป็นที่ทำให้ไม่ได้รับวัคซีน

อย่างไรก็ตาม อำนาจกับข้อมูลมันเชื่อมโยงกัน ใครที่ควบคุมข้อมูลได้ก็มีอำนาจในการตัดสินใจ และถ้าตัวเองจะมีอำนาจในการควบคุมว่าใครจะสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ถือเป็นความเป็นส่วนตัว ซึ่งจากกรณีนี้เป็นโอกาสที่ดีในการตั้งคำถามว่าการจำกัดการะแพร่กระจายของโรคจำเป็นต้องเก็บข้อมูลส่วนตัวมากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งเรื่องการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน

“พวกเราทั้งหลายคุมได้แค่ไหน ไม่ต้องพูดถึงธนาธร เวลาเราขึ้นตึก ถ้า รปภ.บอกให้แลกบัตรประชาชนแล้วทิ้งไว้กับเขา มันจำเป็นแค่ไหน เพราะเขาจะทำอะไรก็ได้ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่เราถามได้ก่อนโควิด ว่าการเก็บข้อมูลเก็บมากกว่าและนานกว่าที่จำเป็น และมีผลกระทบที่ตามมาโดยคนเก็บอาจจะไม่ได้รับผิดชอบกับเราในกรณีที่ข้อมูลหลุดรั่วออกมา”

ทั้งนี้ ต้นตอของปัญหาคือ รัฐบาลบริหารจัดการไม่ได้ตั้งแต่แรกจนคนไม่เชื่อใจในการจัดสรรวัคซีนของรัฐ และกลัววัคซีนไม่พอ จึงแย่งกันลงทะเบียนภายใต้ระบบที่ยังมั่วอยู่ ดังนั้นถ้าคนจะมองว่าคำอธิบายของธนาธร ไม่สมเหตุสมผลก็เป็นไปได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าในช่วงเวลานั้นอะไรก็ไม่สมเหตุผลไปหมดเช่นกัน

ผลประโยชน์สาธารณะกับความเป็นส่วนตัว

ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติหมอและพยาบาลมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลคนไข้ มีอำนาจตรวจค้นเวชระเบียน แต่ห้ามเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว แต่จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนของคนไข้เพื่อป้องกันการฉีดซ้ำ หรือติดตามผลข้างเคียงของวัคซีน และการศึกษาเพิ่มเติม

แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เรามักจะเห็นดาราออกมาเปิดเผยว่าตัวเองติดโควิดและไทม์ไลน์ซึ่งเป็นการตัดสินใจของเจ้าตัว แต่ก็ยังมีกรณีอื่น เช่น การตรวจวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งบางประเทศมองว่ารัฐกำลังใช้อำนาจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมากเกินไป มีการเรียกร้องและฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ศาลต้องวินิจฉัย

แน่นอนว่า อยู่ดีๆ คนธรรมดาจะบังคับให้คนอื่นเปิดเผยว่าตัวเองฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน หรือคนอื่นเอาข้อมูลมาเปิดเผยโดยเจ้าตัวไม่อนุญาตเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะถ้าเป็นหมอพยาบาลยิ่งผิดจรรยาบรรณด้วย แต่ถ้ารัฐเป็นผู้ทำ ก็ต้องให้ศาลพิจารณาว่ามีอำนาจไหม เพราะรัฐก็มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญว่าต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ แต่ขณะเดียวกันก็ขัดกับว่าต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของพลเมืองด้วย

ในช่วงเวลาที่ประเทศมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน และการขาดแคลนวัคซีน หลายคนอาจไม่อยากเปิดเผยข้อมูลการฉีดวัคซีน เพราะอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์และการเลือกปฏิบัติในสังคม ซึ่งมันกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากกว่าการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน

“ประเทศไทยไม่ใช่แค่เรื่องเก็บหรือไม่เก็บข้อมูล แต่รัฐมีสมรรถนะมากพอไหมในการแบ่งแยกว่าความเป็นส่วนตัวกับความมั่นคงหรือประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่แค่รัฐ แต่เป็นเรื่องของสังคมไทยด้วย เรื่องนี้จึงยิ่งกลายเป็นเรื่องยากที่จะชี้ว่าเป็นขาวหรือดำ ซึ่งเรื่องนี้เองก็ยังคลุมเคลือ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนทั่วไปธรรมดาที่ไม่ใช่รัฐจะเอาข้อมูลไปแพร่กระจายในโซเชียลมีเดียได้ ทั้งผิดกฎหมายและผิดมารยาท ถ้าเรามีค่านิยมที่เคารพความเป็นส่วนตัวก็ควรที่จะคิดก่อนว่าจะเอาข้อมูลความลับของคนอื่นไปเผยแพร่”

แต่หากอ้างประโยชน์สาธารณะว่าเราต้องโชว์ข้อมูลการฉีดวัคซีนทุกครั้งที่เข้าร้านอาหาร รัฐก็ต้องประกาศให้ชัดเจนว่ามีอะไรที่ต้องแสดงบ้าง และแสดงเท่าไรแค่ไหน โดยต้องบังคับใช้ให้เข้มงวดและเท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับ การสร้างรัฐสวัสดิการ มันสำคัญที่การบังคับใช้ให้เท่าเทียม แต่ในการบังคับใช้กฎหมายของไทยมันมีจุดโหว่ คือมีกลุ่มคนที่ได้รับการยกเว้นเสมอ เช่น ไปร่วมงานปาร์ตี้ไม่ใส่หน้ากาก เป็นต้น

 

ผู้เขียน : อรรถชัย หาดอ้าน

Next Post

SEAPRWire, Press Release Distribution Leader, Announces Partnership with MobiusTrend

Hong Kong – SEAPRWire has just announced the partnership with MobiusTrend, to extend the company’s exceptional growth by rapidly expanding the industry insight team and fostering PR and marketing research Agency partnerships in Southeast Asia region. SEAPRWire provides PR distribution services to ov […]