รพ.เอกชน เจรจาซื้อวัคซีน Moderna-Novavax-Sputnik V “หมอบุญ” ชี้ไม่ควรใช้ราคาเดียว

สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเผยกำลังเจรจานำเข้าวัคซีนโควิด 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Moderna Novavax และ Sputnik V ขณะที่ “หมอบุญ” ชี้ไม่ควรกำหนดราคาค่าบริการฉีดเป็นราคาเดียว เพราะต้นทุนในการบริหารจัดการของโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ในฐานะสมาชิกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า สมาคมฯ สนใจนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก รวม 3 ยี่ห้อ คือ Moderna และ Novavax ของสหรัฐฯ รวมทั้ง Sputnik V ของรัสเซีย โดยขณะนี้ได้ติดต่อผู้แทนจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์รายใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเจรจาให้นำเข้าวัคซีนทั้ง 3 แบรนด์แล้ว

อย่างไรก็ตาม การสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อมาให้บริการนั้น ยังต้องเป็นลักษณะการซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยตัวแทนจำหน่ายวัคซีนจะนำวัคซีนเข้ามาขายให้กับ อภ. และจะกระจายให้กับโรงพยาบาลเอกชนตามขั้นตอน ซึ่งทำให้ต้องมีรายจ่ายเพิ่มเติมคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มใน 2 ขั้นตอน และค่าธรรมเนียมของ อภ.

สำหรับความคืบหน้าการนำเข้าวัคซีนของ Moderna ยังคงรอความชัดเจนว่าจะสามารถส่งให้ได้เมื่อใดในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือนนี้ ซึ่งประเทศไทยจะนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามาได้ครบ 5 ล้านโดสตามที่ได้สั่งไปอย่างแน่นอน แต่ยังคงต้องรอว่าจะนำเข้าวัคซีนล็อตแรกเข้ามาได้เมื่อใด

ปัจจุบันวัคซีนของ Moderna ผลิตอยู่ใน 2 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งในขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ให้นำวัคซีนที่ผลิตในประเทศสหรัฐฯ ทั้ง Pfizer และ Moderna ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จนกว่าประชากรในสหรัฐฯ จะฉีดวัคซีนครบทั้งหมด คาดว่าจะครบในเดือน มิ.ย.นี้

ดังนั้นสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจึงเจรจาให้ตัวแทนจำหน่ายนำเข้าวัคซีนล็อตแรกมาให้เร็วที่สุดภายในเดือน มิ.ย.นี้ หากสหรัฐฯ เปิดให้ส่งออกวัคซีนได้ ส่วนวัคซีนที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์นั้นปัจจุบันมีการผลิตเพียงพอสำหรับการฉีดให้ประชากรในสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น

ทั้งนี้ นายแพทย์บุญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ความต้องการวัคซีนของแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน โดยในส่วนของโรงพยาบาลธนบุรีมีความต้องการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ของ Moderna มาให้บริการจำนวน 2 ล้านโดส ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพ จากเดิมที่ต้องการสั่งซื้อวัคซีน Moderna เข้ามา 1 ล้านโดส ล่าสุดได้เปลี่ยนยี่ห้อเป็น Sputnik V แทน จึงมองว่าอัตราค่าบริการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนนั้นคงไม่สามารถใช้อัตราเดียวกันได้ เนื่องจากต้นทุนในการบริหารจัดการของแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน

อีกทั้งการที่สั่งวัคซีนเข้ามาจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการนำเข้าจากตัวแทนจำหน่ายมาให้กับ อภ. และครั้งที่ 2 คือ โรงพยาบาลซื้อวัคซีนจาก อภ. และมีค่าดำเนินการของ อภ. อีก 5-10% ทำให้ต้นทุนวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อเข้ามาไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท ยังไม่รวมค่าบริการของแต่ละโรงพยาบาล

“การคิดอัตราค่าบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรให้เป็นไปตามต้นทุนที่เหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาลตามปกติ ซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าการกำหนดราคาเดียว” นายแพทย์บุญ กล่าว

Next Post

Nissin Foods Delivers Stable 2021 Q1 Financial Results

HONG KONG, May 11, 2021 – (ACN Newswire via SEAPRWire.com) – Nissin Foods Company Limited (“Nissin Foods” or the “Company”, and together with its subsidiaries, the “Group”; Stock code: 1475) today announced its unaudited 2021 first quarter financial in […]