เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เมื่อคนรุ่นใหม่ “อยากย้ายประเทศ”

กระแสชวนกันย้ายประเทศ พร้อมกับการเกิดขึ้นของกรุ๊ปเฟซบุ๊กชื่อ “ย้ายประเทศกันเถอะ” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โยกย้าย ส่ายสะโพกโยกย้าย”) ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตกใจ เมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนคนในช่วงเวลาเพียง 3 วัน และทะลุ 1 ล้านคนแล้วในวันนี้ (13 พ.ค. 64) จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกออนไลน์ ทั้งเสียงสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม การย้ายประเทศของคนไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคม เพราะตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คนไทยโยกย้ายไปขายแรงงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศจำนวนมาก แล้วอะไรที่ทำให้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ครั้งนี้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เขย่าสังคมและสร้างความกังวลให้กับหลายภาคส่วน Sanook ขอร่วมมองปรากฏการณ์ #ย้ายประเทศกันเถอะ ที่กำลังสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกของสังคมไทย และหาทางหนีทีไล่หากคนรุ่นใหม่จะย้ายออกจากประเทศไทยกันจริง ๆ

ปัญหามากมายทำคนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทย เพื่อไปทำงาน เรียนต่อ ใช้ชีวิต หรือมีชีวิตคู่ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องส่วนบุคคล และเราคงไม่สามารถเหนี่ยวรั้งให้ใครอยู่ในประเทศต่อไปได้ หากเขาคนนั้นมีความตั้งใจจะย้ายประเทศ แต่หากเราลองมองให้ลึกลงไปมากกว่าเรื่องของปัจเจก เราจะพบว่ามี “ปัญหาทางสังคม” มากมายที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ไปเสาะแสวงหา “ชีวิตที่ดีกว่า” ในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญหน้ากับความบีบคั้นทางสังคมที่รุนแรงในปัจจุบัน 

หนังสือสงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาวหนังสือสงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว

“เรามองว่ามันเป็นเรื่องการตัดสินใจของปัจเจกที่เขาอยากไป เขาก็ไป คือเราไม่ค่อยมองในเชิงโครงสร้างว่าทำไมเขาถึงอยากไป เพราะเขาหาเงินในประเทศไทยและดูแลครอบครัวไม่ได้หรือเปล่า หรือว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มันไม่เอื้อให้เขาอยากอยู่ในประเทศของเราหรือเปล่า” ดร.ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดประเด็น

ขณะที่ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เขียนหนังสือเรื่อง “สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว” ก็ตั้งข้อสังเกตว่าความต้องการย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่กำลังสะท้อน 3 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ การออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นไปได้จริง ความรู้สึกสิ้นหวังและมองไม่เห็นโอกาสว่าประเทศไทยจะปรับตัวได้ต่อโลกที่ยากขึ้น และปัญหาเฉพาะหน้าที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

“ปัญหาเศรษฐกิจของโควิด-19 รอบที่ 3 ซึ่งครั้งนี้เป็นการบอกจริง ๆ ว่าความหวังของเศรษฐกิจไทยที่จะโงหัวขึ้น ที่คิดภาพกันไว้ มันเป็นไปไม่ได้ ความหวังที่ว่าหลายอย่างจะดีขึ้น หรือรัฐบาลจะทำได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในช่วง 1-2 ปีนี้ แล้วยังซ้ำเติมด้วยอีก 2 เรื่อง ก็คือมาตรการแก้ปัญหาโควิด-19 และเรื่องวัคซีน เหล่านี้คือปัจจัยเฉพาะหน้าที่ทำให้เขาตกใจมากว่าไม่มีความหวังแล้ว” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว 

สอดคล้องกับอาจารย์ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าปัจจัยหลักที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกสิ้นหวังและอยากย้ายออกจากประเทศคือ ระดับเสรีภาพของสังคมไทย ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และวัคซีนโควิด-19 

“จริง ๆ คนไทยมีจินตภาพเกี่ยวกับการอยากย้ายประเทศไปอยู่ประเทศที่พัฒนาแล้วมาเนิ่นนาน มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ หรือไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ อยู่แล้ว คนไทยอยากย้ายถิ่นไปทำงานต่างประเทศเพื่อเก็บเงิน เพื่อใช้ชีวิตในโลกที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังไม่เข้มข้นเท่ากับยุคปัจจุบัน มันสะท้อนได้เลยว่า ปัจจัยภายในอย่างเรื่องความล้มเหลวของรัฐบาล เป็นปัจจัยสำคัญมากในการกระตุ้นให้คนอยากออกไป อยากเผ่นแน่บไปให้เร็วที่สุด” อาจารย์ติณณภพจ์ชี้

เรื่องปากท้องสอดคล้องการเมือง   

แม้ความต้องการย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่ที่เข้มข้นมากในขณะนี้จะเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันมีความเชื่อมโยงกับ “เรื่องการเมือง” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ติณณภพจ์กล่าวว่า

“ทุกเรื่องในชีวิตของเรามีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับเรื่องทางการเมืองไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว สุดท้ายแล้วสาเหตุที่คุณค้าขายไม่ออก เลิกกิจการ ตกงาน ในแง่หนึ่งมันอาจเป็นผลจากโควิด-19 แต่คุณปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รัฐบาลเองก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบ เพราะว่ารัฐบาลล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ถ้ารัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย เราจะมีรัฐบาลไปเพื่ออะไร ในเมื่อเราทราบกันอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน มีหน้าที่ในการทะนุบำรุงความสุข ความกินดีอยู่ดีของประชาชน แล้วก็บรรเทาทุกข์ หรือแก้ไขปัญหา” 

แน่นอนว่าการย้ายประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรืื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะเมื่อตลาดแรงงานของประเทศโลกตะวันตกกำลังเปิดกว้าง นั่นจึงทำให้ปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่กลายเป็นเรื่องที่น่ากังวล และอาจนำไปสู่ “ภาวะสมองไหล (Brain Drain)” หรือการไหลบ่าของแรงงานอย่างหนักที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ซึ่ง ดร.ภัทราภรณ์ระบุว่า หากคนที่เป็นวัยแรงงานออกจากประเทศไปเยอะ ประเทศก็จะไม่มีคนมาดูแลผู้สูงอายุในประเทศ 

“เราไม่เห็นวันนี้หรอก เพราะประเทศเรายังไม่ได้ต้องการแรงงานเยอะขนาดนั้น คือมันอยู่ในช่วงการฟื้นฟูจากเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แต่สิ่งที่จะพบคือในอีก 10  ปีข้างหน้า เมื่อสังคมกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) กลายเป็นประเทศที่ไม่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า เราจะกลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนแก่ คนแก่หมายถึงเขาไม่สามารถจ่ายภาษีได้ เราจะไม่มีคนที่เป็นแรงงานรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานและเสียภาษีให้กับรัฐไทย ที่จะมาเลี้ยงดูคนแก่ในอนาคต เพราะฉะนั้นตอนนี้ เรากำลังพูดถึงอนาคตในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องตลก คนพวกนี้อาจจะยังไปไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้ามันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในเวลาไม่ช้า เขาจะไปกันมากขึ้น” ผศ.ดร.กนกรัตน์เสริม 

แค่อยากออกไป ไฉนเป็น “คนชังชาติ” 

ท่ามกลางความกระตือรือร้นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากย้ายออกจากประเทศไทย เพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ในต่างแดน ก็ปรากฏคนอีกกลุ่มที่ใช้วาทกรรม “ชังชาติ” มาตีตรากลุ่มคนอยากย้ายประเทศ ซึ่ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ชี้ว่า หากมองให้ดีที่สุด นี่คือวิธีการของ “ผู้ใหญ่ที่รักเด็ก” หรือเป็นวิธีจัดการเด็กดื้อแบบเก่า ที่ผู้ใหญ่จะไล่เด็กออกจากบ้านเพื่อให้เด็กกลัว เมื่อเด็กไร้ที่ไปก็จะกลับมาหาผู้ใหญ่เหมือนเดิม แต่ในทางกลับกัน หากเด็กเลือกจะออกไปจริง ๆ ผู้ใหญ่จึงต้องขู่ให้กลัว และใช้กรอบวิธีคิดแบบบุญคุณ ระบบผู้ใหญ่ผู้น้อย หรือทำให้เด็กรู้สึกผิด ซึ่งวิธีนี้เคยใช้ได้ผลในรุ่นของผู้ใหญ่เหล่านี้ 

“แต่ถ้ามองให้เลวร้ายก็คือ เขากำลังพยายามทำให้คนที่คิดแตกต่างกับรัฐ​ แตกต่างกับผู้มีอำนาจ ไม่มีที่ยืนในสังคม มันคือวิธีการจัดการของรัฐไทย นั่นคือลดทอนความชอบธรรมของคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นนำไทย เพราะสิ่งที่พวกคุณกำลังทำมันน่ากลัว มันกำลังคุกคามความชอบธรรมและการดำรงอยู่ของปรัชญาฐานคิดของสังคมที่ชนชั้นสูงทำให้มันถูกต้อง คือประเทศไทยดีที่สุด ไม่มีที่ไหนดีเท่าประเทศไทย มันก็คือชาตินิยมแบบปกตินั่นแหละ มันเป็นฐานคิดที่ถูกใช้ เพื่อที่จะลดทอนความชอบธรรมของกลุ่มที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของผู้มีอำนาจ และสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจในสังคมว่าเขาคือผู้ที่รักชาติ แต่พวกคุณไม่ใช่” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว 

การลดทอนความชอบธรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถสะท้อนความคิดเรื่อง “ความเป็นชาติ” ที่แตกต่างกันของคนในสังคมด้วยเช่นกัน โดยอาจารย์ติณณภพจ์มองว่า ในขณะที่คนรุ่นหนึ่งผ่านช่วงเวลาของ “การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)” ที่กล่อมเกลาให้เขายึดมั่นในความเป็นชาติ ศาสนา และสถาบันกษัตริย์ คนรุ่นใหม่ก็ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับความคิดเชิงวิพากษ์ และเติบโตมาพร้อมกับข้อมูลที่ไม่ได้เป็นองค์ความรู้ชุดเดียวอีกต่อไป กอปรกับโลกออนไลน์ที่รวดเร็วและกระตุ้นให้คนรับข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น จึงทำให้ความคิดเรื่องความเป็นชาติของคนรุ่นใหม่มีความลื่นไหลและมีความเป็นสากลมากขึ้น 

“เรามีความคิดเรื่องความรักชาติที่ไม่เหมือนคนรุ่นเก่าแล้วไง” ดร.ภัทราภรณ์เสริม “สำหรับพวกเขา ชาติคือพื้นที่ คือสถาบัน แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้มองชาติในเชิงนั้น เขามองชาติเป็นความเท่าเทียม ถ้าเรารักชาติ เราต้องทำให้คนในประเทศเราเท่าเทียมกัน มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้เหมือนกัน มีความยุติธรรมในสังคม แต่ตอนนี้สภาพสังคมทั้งหลายมันไม่ตอบโจทย์ แล้วโซเชียลมีเดียทำให้เขาเห็นประสบการณ์ของต่างประเทศว่า คนที่อยู่เมืองนอกใช้ชีวิตดี สวัสดิการก็มี ถนนก็เรียบ รถเมล์ก็ขึ้นง่าย อากาศดี ไม่มี pm2.5”  

#ย้ายประเทศกันเถอะ คือการต่อสู้ทางการเมือง 

ปรากฏการณ์อยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่กำลังเกิดขึ้นเป็นคู่ขนานไปกับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการ “ลงถนน” เพื่อเรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ในแง่หนึ่งมันอาจดูเป็นการหนีปัญหาและทิ้งประเทศไทยที่กำลังบอบช้ำไว้เบื้องหลัง แต่อาจารย์ทั้ง 3 ท่าน แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ การย้ายประเทศเป็น “สิทธิ์” ของมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและทำให้ตัวเองมีความสุขที่สุด กล่าวคือ มันอาจเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ไม่ได้แปลว่าคนกลุ่มนี้ไม่สนใจประเทศ 

“มันเป็นขั้นต่าง ๆ ของการต่อสู้ทางการเมือง ปีที่แล้วเราเห็นกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ขยายตัว ซึ่งมันคือกลุ่มที่เอาไว้ตะโกนให้รัฐไทยเข้าใจว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และเราไม่พอใจเรื่องอะไร หรือแม้แต่การมีม็อบปีที่แล้ว นั่นคือขั้นแรกของการต่อสู้ ตะโกนให้เขาได้ยิน ให้รู้ว่าเรามีตัวตนอยู่จริง ๆ แต่การเกิดขึ้นของกลุ่มอยากย้ายประเทศ มันเป็นเรื่องของทางออกทางการเมือง คือในเมื่อมันยังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตอนนี้ไม่ได้ แต่ฉันไม่มีงานทำ มันเป็นทางออกระยะสั้นของคนที่ไม่พอใจในการเมือง” ผศ.ดร.กนกรัตน์อธิบาย 

“ย้ายหรือไม่ย้ายไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่หากคุณกลายมาเป็นคนที่เพิกเฉยทางการเมือง เช่น ยังอยู่ในประเทศไทยนะ แต่พี่เลิกสนใจทางการเมืองแล้วค่ะ หรือย้ายไปแล้ว ก็รู้สึกว่าไม่มีเวลามานั่งสนใจการเมืองไทยหรอกค่ะ ต้องทำมาหากิน กรอบแบบนี้จะเป็นตัวการสำคัญเลยที่ทำลายความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น การย้ายหรือไม่จึงไม่สำคัญ เท่ากับว่าคุณยังคงรักษาระดับความเข้มข้นของความตื่นตัวทางการเมืองไว้ได้หรือเปล่า” อาจารย์ติณณภพจ์กล่าว 

ทางออกป้องกันสมองไหล 

แม้ในแง่หนึ่ง การย้ายประเทศจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่คงจะดีไม่น้อยหากสังคมไทยจะตระหนักรู้ถึงปัญหารุนแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า และหาทางรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นก่อนที่จะสายเกินไป ซึ่ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ แสดงความคิดเห็นว่า รัฐไทย ชนชั้นนำไทย หรือกลุ่มทุนไทย ต้องยอมรับว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของคนธรรมดาที่ต่อสู้เพื่อปากท้องของพวกเขา” และไม่มองว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เป็นภัยคุกคาม จากนั้นรัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าสังคมนี้จะดีขึ้นได้จริง เช่น เรื่องวัคซีนโควิด-19 หรือการปลดแอกเบียร์เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่สามารถผลิตสินค้ามาสู้กับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศได้ เป็นต้น 

“แก้ยังไงก็พูดยาก แต่ขอแนะนำดีกว่าว่า อย่าไล่เขาออกไป เราเห็นผู้ใหญ่บางคนโพสต์บอกว่า อยากไปก็ไปเลย แล้วก็บอกว่าประเทศไทยนี่แหละดีที่สุด นั่นคือประเด็นของเขา แต่เขาไม่ถามว่า แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนพวกนี้อยากไป คือมาบอกว่าประเทศไทยดีที่สุดแล้ว คุณต้องรักประเทศไทย มันไม่พอ คุณไปบอกแบบนั้น คนรุ่นใหม่ก็จะถามว่า แล้วยังไง ชีวิตของฉันดีขึ้นไหม ถ้าฉันรักประเทศไทยแล้วชีวิตของฉันดีขึ้นหรือเปล่า ก็ไม่ ดังนั้น นี่ปี 2021 แล้ว เราควรเปิดกว้างได้แล้ว การที่คุณไปผลักไสคนเหล่าออกไป สมองไหลแน่นอน แล้วใครจะมาพัฒนาประเทศในอนาคต” อ.ภัทราภรณ์ตั้งคำถาม

Next Post

"หน่อย บุษกร" เที่ยวทิพย์อิตาลี แต่งจัดเต็มแค่ไหนก็ต้องยอมให้ "เคน ธีรเดช"

ขุดภาพเก่าๆ มารำลึกความหลังกันอีกคู่แล้ว สำหรับ หน่อย-บุษกร วงศ์พัวพันธ์ ที่ล่าสุดได้ย้อนคิดถึงการท่องเที่ยวที่ประเทศอิตาลีเมื่อ 4 ปีก่อน กับสามี เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ ที่มีทั้งความสุขและความหวานปะปนคละคลุ้งไปหมด แต่งานนี้ก็ดูเหมือน หน่อย บุษกร จะต้องขอยอมยกธงขาวให้กับสามีอย่างโดยดี เมื่อได้เห็นกา […]